สมาคมธรณีฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมกูรูธรณีวิทยาในกลุ่มอาเซียนรับภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 7, 2012 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย(The Geological Society of Thailand:GST) จับมือกูรูด้านธรณีวิทยาจาก 10 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดสัมมนา 12th Regional Congress on Geology, Mineral and Energy Resources of Southeast Asia(GEOSEA 2012) ภายใต้หัวข้อ "รู้ทันภัยพิบัติด้วยศาสตร์แห่งธรณีวิทยา Geoscience in Response to the Changing Earth" เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ สร้างภูมิคุ้มกันรับมือกระแสข่าวลือเรื่องภัยพิบัติ ชูบทบาทนักธรณีวิทยาไทยต่อปัญหาภัยพิบัติโลก

นายทรงภพ พลจันทร์ นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย(ส.ธ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ระบุว่าสภาพอากาศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อน(Global warming) และภัยธรรมชาติ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือมีหิมะตกหนัก ในภูมิภาคและช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงหรือมีความถี่มากขึ้นทุกๆ ปี เช่น น้ำท่วม สึนามิ พายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม เป็นต้น

ภัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของมนุษย์ อันเป็นผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินความจำเป็น ขณะที่จำนวนประชากรกลับเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นชัดส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรทางธรณีมากขึ้น อาทิ ถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำใต้ดิน และสินแร่เศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นการร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาธรณีวิทยา จึงนับเป็นช่องทางสำคัญในการระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมในทุกแง่มุมจากผู้ที่รู้จักสาเหตุที่แท้จริงในเรื่องเหล่านี้

โดยการประชุมทางธรณีวิทยา สินแร่ และแหล่งพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2555 ณ ห้องบอลรูม C โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยสมาคมธรณีวิทยาของแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้นักธรณีวิทยายังมีโอกาสร่วมอภิปรายถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคำทำนายในปี 2012 และคำอธิบายที่เหมาะสมทางวิทยาศาสตร์ต่อสังคม และสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของนักธรณีวิทยาต่อปัญหาของโลกในปัจจุบัน นอกจากนั้นการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือกันเกี่ยวกับบทบาทของสมาคมธรณีวิทยาต่อการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2015 ที่จะมาถึงนี้อีกด้วย

การสัมมนา GEOSEA 2012 ยังถือเป็นอภิปรายระหว่างนักธรณีวิทยาด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางธรณีวิทยา อันจะนำไปสู่งานวิจัยที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นแนวทางในการเสาะหาแหล่งทรัพยากรธรณีใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์ของนักธรณีวิทยาจาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.นวัตกรรมทางธรณีวิทยาในปัจจุบัน 2.ทรัพยากรธรรมชาติเฉพาะถิ่น และภัยธรรมชาติ 3.ความเกี่ยวโยงทางธรณีศาสตร์ สถานะและบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโลกและการแบ่งปันต่อสังคม และ 4.จุดยืน วิสัยทัศน์ และทิศทางของ GEOSEA ที่จะก้าวต่อไป โดยการประชุมจะแบ่งเป็น 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ ธรณีวิทยาและทรัพยากรทางธรณี (Geology and Geological Resources) และสิ่งแวดล้อมทางธรณีวิทยาและภัยอันตรายจากทางธรณีวิทยา (Environmental Geology and Geological Hazards) นอกจากนั้นภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย

ขณะที่นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะนักธรณีวิทยาผู้มีประสบการณ์และคร่ำหวอดแห่งวงการธรณีวิทยาไทย กล่าวว่า การศึกษาด้านธรณีวิทยาเป็นการศึกษาลักษณะทางธรณีและปรากฏการณ์ธรรมชาติในหลักฐานที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้รู้ถึงเหตุการณ์ในอดีต และเพื่อคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ มิใช่เรื่องของสถิติ และด้วยความก้าวหน้าแห่งศาสตร์ธรณีวิทยาผนวกกับความก้าวล้ำยุคแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ข้อมูลเชิงธรณีวิทยาในวันนี้จึงมีสถานะเป็นเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือระดับสูง สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงทำให้เกิดคำกล่าวขึ้นใหม่ที่ว่า "The Present is the key to the future"

การประชุม GEOSEA 2012 ในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการธรณีวิทยาในภูมิภาคนี้ เพราะจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลและสภาวการณ์ทางธรณีวิทยา ภัยพิบัติ และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากนักธรณีวิทยาของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในวงการธรณีวิทยา การเตือนภัยและการป้องกันพิบัติภัยที่จะเกิดจากธรรมชาติตลอดจนการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระดับภูมิภาคต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ