ก.เกษตรฯ ร่วมรับรองปฏิญญาคาซานว่าด้วยความมั่นคงอาหารในเวทีเอเปค

ข่าวทั่วไป Wednesday June 6, 2012 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการร่วมประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสามารถเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเน้นย้ำถึงความร่วมมือของประเทศสมาชิกซึ่งมีทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา รวมถึงไทยจึงได้มีการรับรองปฏิญญาคาซานว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปคร่วมกันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมปฏิญญาคาซานว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปคในครั้งนี้ ให้ความสำคัญใน 5 ประเด็น คือ 1. การเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพทางการเกษตร 2. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการพัฒนาตลาดสินค้าอาหาร 3. การส่งเสริมความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร 4. การปรับปรุงการเข้าถึงอาหารสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม และ 5. การสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างยั่งยืน และการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงการค้าที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของท่าทีของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ ได้เสนอ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าอาหาร การสร้างความโปร่งใสของตลาดสินค้าอาหาร มีการค้าที่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของสินค้าอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้เพียงพอและสามารถเข้าถึงอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร และ 2. การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสำหรับเป็นแนวทางในการสร้างความโปร่งใสของการค้าสินค้าอาหาร โดยไทยสนับสนุนเรื่องนี้และเห็นว่าสมาชิกเอเปคสามารถใช้ประโยชน์จาก Asia-Pacific Food Security Information Platform หรือ APIP ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยญี่ปุ่นเมื่อต้นปีนี้ สำหรับเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องการผลิตอาหารและการบริโภคระหว่างเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อการวางแผนที่ดีในอนาคต รวมถึงไทยยังเห็นพ้องกับรัสเซียที่จะเสนอให้สมาชิกเอเปคพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันระหว่างระบบ Agricultural Market Information System หรือ AMIS ที่ริเริ่มดำเนินการโดยกลุ่มประเทศ G20 กับระบบ APIP ด้วย โดยประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคในครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำให้มีการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหาร และถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐมนตรีรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงอาหารของแต่ละเขตเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการร่วมมือกันในการสร้างเสริมความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปคให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยไทยได้ดำเนินการโครงการด้านความมั่นคงอาหารที่อยู่ในกรอบเอเปคมา อย่างต่อเนื่องโดยได้บรรจุโครงการไว้ในแผนปฏิบัติการแนบท้ายปฏิญญานิอิกาตะฯ จำนวน 7 โครงการ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการในช่วงปี ค.ศ. 2010 - 2015 โดยไทยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 1 โครงการ และในปีนี้ไทยจะดำเนินการอีก 2 โครงการ

ทั้งนี้ ไทยจะได้รวบรวมผลการหารือในระหว่างการประชุมหรือการดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของเอเปคในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้กล่าวเชิญชวนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากเอเปค เข้าร่วมการประชุม APEC International Conference on Natural Resources and Infrastructure Management for Agriculture ซึ่งไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2555 ณ กรุงเทพ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่พัฒนามาจากกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารเอเปคภายใต้เป้าหมายร่วมที่ 1 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ