ปลัด สธ.เผยคาดปีนี้พบผู้ป่วยโรค"มือเท้าปาก"ในไทยไม่เกิน 1.8 หมื่นราย

ข่าวทั่วไป Thursday July 19, 2012 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการและกุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เรื่องโรคมือเท้าปาก โดยระบุว่า ขณะนี้โรคดังกล่าวเป็นการแพร่กระจายตามฤดูกาล ซึ่งช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมจะเป็นช่วงที่มีการแพร่กระจายของโรค ในการประชุมในวันนี้ได้แจ้งให้ทุกจังหวัดทราบถึงสถานการณ์การระบาดของโรคว่าขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณ 13,000 ราย พบผู้ป่วยกระจัดกระจายจังหวัดละ 5 คน 10 คน พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ซึ่งเป็นปกติคาดว่าในปีนี้จะพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากทั้งหมดไม่เกิน 18,000 ราย ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ปลัด สธ. กล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดใช้ 2 มาตรการรองรับ ได้แก่ 1.การควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย พุ่งเป้าไปที่โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก หากพบเด็กผู้ป่วยให้เด็กกลับบ้าน และถ้ามีการระบาดมากขึ้นต้องปิดชั้นเรียนหรือปิดโรงเรียน และทำความสะอาด 2.ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิตให้น้อยที่สุด ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตเกิดมาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.เชื้อโรค 2.ระบบการดูแลรักษา และ3.การเข้าถึงบริการ ซึ่งปัจจัยในเรื่องของเชื้อที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างดีมาก มีระบบการดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุมารแพทย์นับว่ามีความพร้อมสูงมาก

สำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยในช่วงนี้ ขอให้ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และให้เด็กหยุดพักอยู่บ้าน 7-10 วัน จะสามารถช่วยไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่วนกรณีเด็กเสียที่ชีวิตที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ผลการตรวจห้องปฏิบัติการยืนยันว่าไม่ใช่เสียชีวิตจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส แต่เป็นเชื้อไวรัสอื่นที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

ด้านพญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถรักษาได้ตามอาการ ซึ่งเด็กที่ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 อายุต่ำกว่า 5 ปี สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคคือการล้างมือ เนื่องจากเชื้ออยู่ในปากและเมื่อเด็กเล่นแล้วบางครั้ง อมมือ หรือสิ่งของเข้าไปทำให้น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อติดออกมาด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองจะต้องสังเกตอาการของเด็ก หากเด็กมีไข้สูงวันแรก แต่เล่นได้ รับประทานอาหารได้ ให้เช็ดตัว ดื่มน้ำมากๆ วันที่สองหากอาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ต้องตกใจมาก ปกติจะหายได้เอง แต่หากในวันที่ 3 อาการยังไม่ดีขึ้นจะต้องรีบพาไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ยังต้องดูด้วยว่าเป็นโรคมือเท้าปากหรือเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาการที่แสดงให้เห็นในช่วงแรกจะคล้ายกัน แต่จะเริ่มแตกต่างกันในวันที่ 3 ที่มีแผลขึ้น เด็กส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มักจะมาด้วยอาการมีแผลร่วมกับมีไข้ อาการที่ต้องรีบนำมาพบแพทย์คือ เด็กมีอาการซึมมาก อาเจียนมาก ไข้สูง มีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้แผลของโรคมือเท้าปากแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.มีแผลเกิดขึ้นในคอ แต่ไม่แสดงให้เห็นชัดเจน และ 2. มีแผลที่เกิดขึ้นตามมือ เท้า และปาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ