กรมชลฯ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำเขตอีสานกลาง รับมือปัญหาขาดแคลนน้ำ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 21, 2012 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ระบุว่า จากการติดตามสภาวะฝนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ย่างเข้าสู่ฤดูฝนเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ที่ประกอบไปด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีฝนตกลดน้อยลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยมีฝนสะสมประมาณ 70 - 100 มิลลิเมตรต่อเดือนเท่านั้น และยังมีแนวโน้มว่าฝนจะตกน้อยลงอย่างต่อเนื่องด้วย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน เนื่องจากเกษตรกรได้ทำการปลูกข้าวไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คิดเป็นพื้นที่นาข้าวที่ปลูกมากกว่า 1,093,000 ไร่ เมื่อรวมกับพื้นที่เพาะปลูกพืชอื่นฯ บ่อกุ้ง-บ่อปลา และพื้นที่การเกษตรที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกกว่า 826,000 ไร่ แล้ว จะมีพื้นที่รวมกันมากเกือบถึง 2 ล้านไร่ ในขณะที่สถานการณ์น้ำในเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในภูมิภาคมีปริมาณน้ำเฉลี่ยเพียงร้อยละ 25 ของความจุฯเท่านั้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 6 ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อลดความรุนแรงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยจะต้องมีการหมุนเวียนการใช้น้ำในระบบชลประทาน เพื่อลดผลกระทบจากการมีน้ำต้นทุนที่จำกัด และจะต้องสูบน้ำจากทางน้ำเสริมให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำหรือสูบน้ำจากทางระบายน้ำ เพื่อนำน้ำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆแล้ว จำนวน 35 เครื่อง คิดเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์กว่า 10,000 ไร่ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ให้ร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้ง ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แม้จะเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 281 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 448 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 90 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 56 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลายแห่ง ในพื้นที่ภาคอีสาน ปริมาณน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ค่อนข้างน้อยมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ