"ปลอดประสพ" ให้ผู้ว่าฯปรับตัวเตรียมรับมือภาวะน้ำท่วมมากกว่าภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2012 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ในฐานะตัวแทน นายกรัฐมนตรีนำผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศชมนิทรรศการ "มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน" ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับจังหวัดให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปรับแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในอดีตผู้ว่าฯ อาจจะเคยชินกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนของนโยบาย เครื่องมือ และงบประมาณ แต่นับจากนี้เป็นต้นไปแนวโน้มของสภาพอากาศในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าต้องเผชิญกับปัญหาน้ำมากอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลปรากฎการณ์ลานิญญา ดังนั้นการบริหารจัดการจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม

"ผู้ว่าฯต้องเปลี่ยนความคิดไปสู่การเผชิญกับน้ำมาก และกลัวเรื่องภัยแล้งให้น้อยลง เพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นนับจากนี้จะเกิดเป็นจุดๆ และมีระยะสั้น อิทธิพลของน้ำมีมากกว่า" นายปลอดประสพ กล่าว

ส่วนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำต้องมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ขุดคลอง สร้างฝาย สร้างเขื่อน ปลูกป่าซับน้ำ ขณะที่ผู้ว่าราชการในแต่ละภูมิภาคต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และอิทธิพลของลมมรสุม ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดที่อยู่ในแถบตะวันตกและตะวันออกไม่จำเป็นต้องมีแนวทางการทำงานที่เหมือนกัน

นายปลอดประสพ กล่าวว่า นอกจากข้อมูลพยากรณ์อากาศ ปัจจัยเรื่องพายุ ผู้ว่าฯจะต้องติดตามข้อมูลของลมมรสุม ความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านเพิ่มเติม เนื่องจากลมมรสุมมีอิทธิพลต่อปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับพายุ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถติดตามได้จากภาพถ่ายดาวเทียม

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ในเขตพื้นที่ต้นน้ำต้องสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ กรณีเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องภายในครึ่งชั่วโมง ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในลำน้ำบ่งบอกได้ถึงสภาพความเสื่อมโทรมของป่าต้นน้ำที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข รับมือ และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ โดยในลำน้ำขนาดเล็กจังหวัดจะต้องลงทุนติดตั้งโทรมาตรเพื่อรับข้อมูลตรง เพิ่มเติมจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้นทุนไม่สูงมาก

ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้จัดการกับพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติจะต้องมีการพิจารณาถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันให้ได้มากที่สุด เช่น โครงการพัฒนาบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ต้องมองถึงการบูรณาการเข้ากับแม่น้ำพิจิตร และแม่น้ำน้อย เพื่อรักษาบึงสีไฟให้อยู่ได้ ตลอดจนโครงการก่อสร้างที่ขวางเส้นทางน้ำจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

สำหรับกรณีครม.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่สำรวจคลองลาดพร้าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ก่อสร้างบ้านเรือนสองฝั่งคลอง เพื่อส่งข้อมูลต่อให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปดำเนินการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำ ซึ่งส่งผลทำให้การขุดลอกคูคลองเพื่อรองรับการระบายน้ำผ่านคลองลาดพร้าวเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่การย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ