(เพิ่มเติม) กรมอุตุฯ เตือน 6-7 ต.ค.พายุลูกใหม่จากทะเลจีนใต้เคลื่อนเข้าลาว-ไทย

ข่าวทั่วไป Monday October 1, 2012 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมอุตุนิยมวิทยา แถลงผลกระทบของพายุดีเปรสชัน “บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง" ต่อประเทศไทย คาดว่า ในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค. พายุนี้จะเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยตามลำดับ ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะอากาศดังกล่าว

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

เช้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน"พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง" ฉบับที่ 1 เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (1 ต.ค.)ระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์อยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ ละติจูด 15.5 องศาเหนือ และ ลองจิจูด 113.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 30 นอต หรือ 55 กม./ชม. พายุเกือบจะไม่เคลื่อนที่ และมีแนวโน้มที่จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนต่อไปในช่วงวันที่ 2-3 ต.ค. 2555 แต่ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

ในช่วงวันที่ 4-5 ต.ค. คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนาม และในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค. จะเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย ตามลำดับ ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะอากาศดังกล่าว สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบน และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

อนึ่ง ในระยะ 1-2 วันนี้ ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก มีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์กระจายและมีฝนตกหนักบางแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ