กทม.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 10 จุด-เพิ่มเครื่องสูบน้ำ รับมือพายุ"แกมี"

ข่าวทั่วไป Saturday October 6, 2012 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครและหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์พายุแกมี (GAEMI) ว่า ขณะนี้ส่วนหน้าของพายุแกมี ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว ซึ่งจากการคาดการณ์ของหน่วยงานพยากรณ์อากาศสำนักต่างๆ แจ้งว่าพายุดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อกรุงเทพมหานคร แต่อาจมีผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากมรสุมจะพัดเมฆฝนจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมแผนรับมือพายุแกมีและปริมาณฝนที่อาจเกิดขึ้น โดยสำนักการระบายน้ำ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเร่งด่วนส่วนหน้า จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณสนามกีฬาธูปะเตมีย์ 2.ใต้สะพานทางด่วนถ.ลาดพร้าว ตัดกับ ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม 3.ถ.ศรีนครินทร์ตรงข้ามโรงงานกรีนสปอร์ต 4.บริเวณตลาดพงษ์เพชร ถ.งามวงศ์วาน 5.ลานพระบรมรูปทรงม้า 6.ตลาดฮ่องกงปีนัง 7.บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต (ขาออก) 8.ถ.บางขุนเทียนชายทะเล ตัดกับ ถ.พระราม 2 9.ถ.เพชรเกษม ตัดกับ ถ.กาญจนาภิเษก และ 10.โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก

นอกจากนี้ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลบริเวณเขตพระราชฐานเป็นกรณีพิเศษด้วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ พร่องน้ำในคลองและแก้มลิง เร่งระบายน้ำในพื้นที่

ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ในพื้นที่เขตต่างๆ รวมถึงบ่อสูบน้ำที่สำคัญรวม 284 เครื่อง อีกทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม 11 เครื่อง บริเวณคลองลาดพร้าว คลองบางเขน คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ และติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 29 ลำ บริเวณคลองทวีวัฒนา คลองพระยาราชมนตรี คลองสอง คลองลาดพร้าว และคลองบางเขน ด้วย

นอกจากนี้ พร่องน้ำในคลองและแก้มลิงสำคัญๆ เช่น คลองโองอ่างใกล้ผ่านฟ้า สามแยกท่าเรือผ่านฟ้า คลองบางลำพู บึงฝรั่งบางซื่อ บึงพิบูลวัฒนา บึงมักกะสัน บึงหนองบอน ประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว 56 ประตูระบายน้ำแสนแสบเก่า เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กทม.ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมทรัพยากรธรณี 50 เครื่อง เพื่อติดตั้งในพื้นที่เขต ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ และได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ รวม 22 ลำ ติดตั้งที่คลองเปรมประชากร คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองหัวตะเข้ คลองลาดกระบัง คลองลำปลาทิว อีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ทบทวนแผนปฏิบัติของหน่วยงานในสังกัดในถึงความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ สำนักการโยธา เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือหนัก สำนักเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจส่วนกลางและประสานเทศกิจ 50 สำนักงานเขตประจำจุดเสี่ยง สำนักการอนามัยจัดชุดเวชภัณฑ์เพื่อการรักษาและป้องกันโรครวมกว่า 4,000 ชุดพร้อมแจกจ่าย

อีกทั้งจัดทีมแพทย์ หน่วยปฐมพยาบาล ทีมสุขภาพจิต ทีมป้องกันกันโรคติดต่อพร้อมลงพื้นที่ทันที สำนักการแพทย์จัดทีมแพทย์เชิงรุกปฏิบัติการช่วยเหลือ หากพบพื้นที่ติดเชื้อ 20% จะตั้งศูนย์ One Stop Service ในพื้นที่ทันที สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ โทร.199 จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเตรียมไฟฟ้าแสงสว่าง และถุงยังชีพ พร้อมให้บริการเกาะติดพายุแกมีทางเว็บไซต์ หรือสอบถามโทร 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวแสดงความห่วงใยพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะบริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยกำชับให้สำนักงานเขตประสานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เป็นกำลังเสริมในการดูแลและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของพายุแกมี ทางเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร http://bkkfloodwatch.go.th หรือ http://dds.bangkok.go.th ซึ่งจะปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา หรือจะสอบถามข้อมูลโดยตรง หรือแจ้งปัญหาน้ำท่วมสามารถโทรศัพท์สอบถาม 0 2248 5115 ให้บริการ 20 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ