เอแบคโพลล์ เผยคนไทยหวั่นแก้รธน.ทำสังคมแตกแยก ขอช่วยแก้ปัญหาปากท้องก่อน

ข่าวทั่วไป Sunday January 6, 2013 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนเลือกอะไร ระหว่าง แก้ไขนิสัยและพฤติกรรมของนักการเมือง กับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแนวทางลดความแตกแยกเพื่อรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,289 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 — 5 มกราคม 2556 ว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วความวุ่นวาย ความขัดแย้งจะจบลงหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 ระบุว่า ไม่จบ ในขณะที่ ร้อยละ 14.6 เชื่อว่าจะจบ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.8 เห็นว่าถ้าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศมากกว่าช่วยเหลือคนใดคนหนึ่ง ในขณะที่ร้อยละ 12.2 ระบุไม่เห็นด้วย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกความสามัคคีกันในหมู่ประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 13.4 ไม่คิดว่าจะเกิด

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุรัฐบาลควรเดินหน้าแก้ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาปากท้องให้กับคนในชาติ ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 84.2 ระบุรัฐบาลควรเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาของประเทศ แก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาความรุนแรงในหมู่เด็กและเยาวชน ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.6 ระบุควรแก้นิสัยและพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักการเมืองก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

นอกจากนี้ความเห็น เกือบ 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างหรือร้อยละ 73.1 ระบุยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเพิ่มความขัดแย้งขึ้นในหมู่ประชาชน จะทำให้เกิดความแตกแยก แตกความสามัคคีกัน จะทำให้รัฐบาลอายุสั้น ควรเร่งแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจก่อน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 26.9 ระบุช่วงเวลานี้เหมาะสมแล้วที่จะเริ่มเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ จะช่วยลดปัญหาขัดแย้งในหมู่ประชาชน เป็นหนทางหนึ่งสร้างความปรองดอง รัฐบาลจะทำตามที่หาเสียงไว้ รัฐบาลอยู่นานยิ่งทำให้คะแนนนิยมลด และปล่อยเนิ่นนานไป ปัญหาประเทศจะยิ่งมีมาก เสถียรภาพรัฐบาลจะสั่นคลอน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญยิ่งยากมากขึ้น เป็นต้น

ข้อเสนอแนะที่จะช่วยลดความแตกแยกในหมู่ประชาชนและ รวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่ง สำหรับประเทศไทย พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 41.9 ระบุ ทุกคนช่วยกันแสดงออกซึ่งความรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เช่น เข้าวัดทำบุญ สวดมนต์ ตักบาตร ถวายพระพร ปกป้องสถาบัน ส่งความช่วยเหลือไปยังชายแดน ช่วยสร้างความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ เป็นต้น รองลงมาคือ ร้อยละ 23.7 ระบุ แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตให้กับความสงบสุขและปกป้องประเทศ เช่น ทำหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต รักษาผืนป่า รักษาแหล่งน้ำ ไม่ใช่จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 17.2 ระบุ มีน้ำใจ เมตตา กรุณา รู้จักให้อภัยต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร้อยละ 13.5 ระบุ มีวินัย เคารพกฎหมาย ไม่ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ไม่ทำอะไรตามใจตามอารมณ์ ทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 3.7 ระบุให้ยินดีจ่ายภาษี ไม่หลีกเลี่ยง รักษาทรัพย์สินสาธารณะ และยินดีเสียสละเงินส่วนตัวหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ