กบอ.เคาะสร้างเขื่อนยมบน-ล่างปรับแผนป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำยม เพิ่มงบ 10%

ข่าวทั่วไป Tuesday February 19, 2013 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เปิดเผยหลังการประชุม กบอ.ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปในการปรับแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยจะสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง และจะมีเขื่อนขนาดเล็กตามลุ่มน้ำสาขาอีก 17 เขื่อน ซึ่งวงเงินการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% จากเดิม 1.1 พันล้านเป็น 1.3 พันล้านบาท แต่ระยะเวลาการก่อสร้างยังคงอยู่ใน 5 ปี เช่นเดิม

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ป่าสักทองใน อ.สอง จ.แพร่ รวมทั้งชาวบ้านสะเอียบกว่า 900 ครัวเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบและไม่จำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่

ส่วนการสร้างฟลัดเวย์จะสร้างเป็นฟลัดไดเวอร์ชั่นคลองขนาดใหญ่เพื่อการระบายน้ำแทนการสร้างเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อให้น้ำหลากเข้ามาและจะทำทั้งฝั่นตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยฝั่งตะวันออกจะปรับปรุงทางน้ำตั้งแต่จังหวัดชัยนาท-ป่าสัก ผ่านคลองรังสิต คลองพระองค์เจ้าลงสู่ทะเล โดยจะปรับให้ทางน้ำลึกและใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งขยายไหล่ทางและทำเขื่อนดินให้แข็งแรงขึ้น

ส่วนฝั่งตะวันตกจะเริ่มจากแม่น้ำปิงตอนปลาย เหนือนครสวรรค์ผ่านชัยนาท กาญจนบุรี และลงแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนหรือลงทะเลโดยตรง

นายปลอดประสพ ระบุว่า การปรับให้มีฟลัดไดเวอชั่นทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกแล้ว จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแบ่งเบาแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ความจำเป็นในการมีแก้มลิงที่เดิมมีถึง 2 ล้านไร่ลดลงไปเหลือเพียงครึ่งเดียว จากเดิมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ทั้งพระนครศรีอยุธยาและชัยนาทอาจจะไม่ใช้ แต่แก้มลิงทั้งหมดจะอยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ เช่น พิจิตร พิษณุโลก ซึ่งจะสามารถทำได้งานเพราะมีคลอง หนอง บึงจำนวนมาก โดยจะใช้พื้นที่ธรรมชาติในการทำแก้มลิงและจะไม่ต้องมีการปรับปฏิทินทางการเกษตรอีก

นอกจากนี้ แผนงานการปรับปรุงระบบทำข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัยการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จะรวมเป็นแผนงานเดียวเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง อย่างไรก็ดี การปรับปรุงแผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะทำให้ความขัดแย้งลดลงและทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดและมีความลำบากน้อยที่สุด

นอกจากนี้ นายปลอดประสพ ได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2556 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงมาตรการระยะสั้น 90 วัน ให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภค บริโภคอย่างพอเพียง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปดภค บริโภค ตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ