ดุสิตโพลเผยประชาชนหวังเห็นการเจรจากับกลุ่ม BRN จะช่วยลดปัญหาไฟใต้ลงได้

ข่าวทั่วไป Sunday March 17, 2013 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การแก้ปัญหาภัยใต้ในสายตาประชาชน" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 64.32% มองว่าสถานการณ์ภัยใต้ในปัจจุบันยังมีความน่าเป็นห่วง มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รองลงมาประชาชน 24.05% มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่แก้ไขได้ยาก ควรหาทางแก้โดยเร็ว และประชาชนอีก 11.63% รู้สึกสงสารและเห็นใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครู นักเรียน ทหาร

จากที่ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาภัยใต้ โดยการที่จะเจรจากับกลุ่ม BRN ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 57.57% เห็นด้วย เพราะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะเหมาะสม จะได้รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงมากขึ้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ฯลฯ ขณะที่ประชาชน 25.46% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเจรจาเพียงกลุ่มเดียว ควรรับฟังความเห็นจากหลายๆกลุ่ม อาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ฯลฯ และอีก 16.97% รู้สึกเฉยๆ เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะแก้ด้วยวิธีใดก็ไม่น่าจะทำได้สำเร็จ ฯลฯ

สำหร้บการเจรจาครั้งนี้กับกลุ่ม BRN ที่จะมีตัวแทนต่างๆ เข้าร่วมนั้น ถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จ ประชาชนคิดว่าควรจะมีกลุ่มใดบ้างที่เข้าร่วมเจรจา พบว่า ประชาชนตอบว่า 3 กลุ่มแรกที่ควรเข้าร่วมเจรจาด้วยคือ อันดับแรกผู้แทนภาคประชาชน, อันดับสอง ทหาร ตำรวจ และอันดับสามนักวิชาการ

ส่วนประเด็นที่ประชาชนอยากให้มีการพูดคุยในการเจรจาครั้งนี้ ที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น พบว่า อันดับแรก หาข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา/หาทางออกที่ดีที่สุด อันดับสอง ขอให้เห็นแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และได้รับความเดือดร้อน และอันดับสาม ความต้องการ/สิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยดำเนินการ

ทั้งนี้ ประชาชนคิดว่าถ้ามีการเจรจาต่างๆขึ้นจริง จะทำให้ภัยใต้ที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไรนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 42.03% มองว่าจะลดความรุนแรงได้ เพราะได้แนวทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน สถานการณ์ต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ฯลฯ ขณะที่อีก 27.59% มองว่าคงจะไม่ได้ผล เพราะเป็นการเจรจาแค่เพียงกลุ่มเดียว อาจไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมดฯลฯ ส่วนประชาชนอีก 17.47% มองว่าจะสงบได้เร็วขึ้น เพราะมีการพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ เกิดความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ฯลฯ และประชนอีก 12.91% มองว่าคงไม่ได้ผล เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานและยากที่จะแก้ไขได้ ฯลฯ

อนึ่ง ผลการสำรวจรดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 1,569 คน ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ