ไทย มั่นใจแถลงปิดคดีปราสาทพระวิหารวันนี้ หลังรับฟังกัมพูชาให้การรอบ 2 วานนี้

ข่าวทั่วไป Friday April 19, 2013 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คณะทำงานและทนายฝ่ายไทยได้หารือเพื่อเตรียมคำแถลงต่อศาลฯ รอบที่ 2 เพื่อย้ำท่าทีของฝ่ายไทยในการหักล้างประเด็นที่กัมพูชายกขึ้นตามแนวทางเดิม ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าฝ่ายไทยมีความพร้อมด้านข้อมูลและหลักฐานที่จะนำเสนอต่อศาลฯ

ทั้งนี้ ในวันนี้ฝ่ายไทยจะให้ถ้อยแถลงรอบสุดท้ายต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีปราสาทพระวิหาร ในเวลา 15.00-17.00 น. ตามเวลากรุงเฮก หรือ 20.00-22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

นายสุรพงษ์ ระบุว่า วานนี้ กัมพูชาพยายามชี้แจงและย้ำต่อศาลฯ ว่า กัมพูชากับไทยมีความเข้าใจต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษาปี 2505 เรื่องพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทและการถอนทหาร เพื่อให้ศาลรับพิจารณาตีความตามที่กัมพูชาขอ โดยอ้างว่ากัมพูชามิได้ยอมรับเส้นที่ไทยใช้ในการถอนทหารหรือเส้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505

อีกทั้ง กัมพูชาพยายามยืนยันสถานะและความสำคัญของ “แผนที่ภาคผนวก 1" ในคำพิพากษาฯ โดยอ้างว่า ศาลฯ เมื่อปี 2505 ยอมรับเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าว และใช้แผนที่เป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสิน

สำหรับการชี้แจงทางวาจาต่อคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก(ไอซีเจ) รอบสุดท้ายของคณะดำเนินการทางกฎหมายของกัมพูชา เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (18 เม.ย.) นำโดยนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กัมพูชา จากนั้น นายร็อคแมน บุนดี ทนายความชาวอเมริกันของกัมพูชา ขึ้นกล่าวชี้แจงทางวาจา โดยยืนยันว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ากัมพูชาได้ยอมรับเส้นสีแดงเป็นสิ่งไม่มีมูล และการที่ทนางอลินา มิรอง ทนายความของไทย ได้ชี้ให้เห็นว่า ในแผนที่ได้แสดงพื้นที่ของปราสาทที่มีอยู่จริงนั้นมีขนาดเล็กเป็นสิ่งเข้าใจผิด และข้อพิพาทมีจริงตามที่ได้เสนอหลักฐานจำนวนมากที่ทำให้เห็นว่ามีความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมากัมพูชามีคำประท้วงว่า เส้นดังกล่าวไม่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลโลก และการที่ ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความของไทย บอกว่า กัมพูชาเห็นสอดคล้องกับมติ ครม.ปี 2505 ขอชี้แจงเริ่มต้นจากที่ว่า มติ ครม.ปี 2505 ที่ได้อ้างเส้นสีแดงในแผนที่ใช้แบ่งเขตแดนในพื้นที่ปราสาทเป็นเหตุกึ่งบังเอิญว่า ไทยได้ใช้เส้นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนในแผนที่ L7017 โดยไทยได้อ้างว่า เป็นเอกสารลับ ทั้งที่แผนที่ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจาก 2 ประเทศ

ในปี 2506 นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้แถลงเกี่ยวกับการที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่สหประชาชาติ เป็นเพียงคำกล่าวในตอนหนึ่งเท่านั้น ความจริงประเทศไทยได้หลอกลวง ทำเหมือนปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก โดยได้คืนแต่ปราสาทพระวิหาร ที่ผ่านมาทางกัมพูชาก็ประท้วงเสมอมา ไทยก็ไม่เคยถอนทหารออกจากพื้นที่หลังรั้วลวดหนาม และการที่พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ เสด็จฯ ไปที่นั่นเพื่อร่วมพิธีมอบคืนปราสาทพระวิหาร และการที่ไทยบอกว่า แนวรั้วรุกล้ำเข้าไปในกัมพูชา 2-3 เมตรก็ไม่ติดใจ แต่ไทยไม่ได้เล่าเรื่องทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ เสด็จฯ ไปที่นั่น ซึ่งก่อนหน่านี้ 4-5 เดือนกัมพูชาได้ประท้วงไทย และการเดินทางไปที่นั่นก็เพื่อทำความเข้าใจกับไทยในเรื่องการกำหนดแนวรั้วลวดหนามที่มีนัยสำคัญ หากพระองค์พยายามในเรื่องนี้ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอีก

จะเห็นว่า พระองค์พยายามไม่ติดใจและแสดงออกในเรื่องนี้ ดูจากบันทึกของสถานทูตอเมริกันว่า แม้ไทยจัดทำรั้วลวดหนามที่รุกล้ำดินแดนกัมพูชา แต่พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ ก็เสด็จฯ เยี่ยมปราสาทพระวิหาร เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ไทยกลับกล่าวหาว่า ประมุขยอมรับ และยังเทียบเคียงกับการเดินทางของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อย่างไร ทั้งที่มีความแตกต่างกัน

ต่อด้วย นายเชอร์แฟรง เบอร์แมน ทนายชาวอังกฤษ กล่าวว่า ขอชี้แจงข้อกล่าวหากัมพูชาไม่มีข้อโต้แย้ง ทั้งในเรื่องมติ ครม.ปี 2505 ที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลกแล้ว สิ่งนี้ได้ส่งผลนัยสำคัญตามมา ซึ่งมีความจำเป็นที่ศาลโลกต้องหาข้อสรุปในเรื่องที่ศาลโลกสื่อสารไปยัง 2 ประเทศไม่เข้าใจ ที่ได้กลายมาเป็นข้อพิพาทในวันนี้ และขอปฏิเสธเรื่องที่กัมพูชาไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องถอนกำลังทหาร มีข้อสงสัยว่า ไทยถอนทหารออกจากดินแดนกัมพูชาไปสู่ดินแดนไทยจากจุดไหนไปยังจุดไหน ในข้อเท็จจริงไทยไม่ได้ชี้แจงในเรื่องการถอนทหารออกจากปราสาท แต่การถอนทหารที่ไทยดำเนินการก็เพื่อถอนไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่งของกัมพูชาอย่างนั้นหรือ ไทยต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

แม้ว่าในคำตัดสินปี 2505 ศาลโลกจะไม่ชี้ชัดในเรื่องเส้นเขตแดน แต่การบิดเบือนข้อบทปฏิบัติการคงไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่แท้ ทนายของไทยท่านหนึ่งได้บิดเบือนว่า กัมพูชาต้องการตีความในเรื่องเส้นแดนมาในรูปคดีเดิม เรื่องนี้คงปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องศาลตัดสินให้ปราสาทอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา โดยที่ไม่รู้เส้นเขตแดน เพราะแผนที่ในภาคผนวก 1 นั้นได้อ้างอิงโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาของศาลที่ไทย และกัมพูชาก็ได้ยอมรับ ซึ่งไม่ใช่สันปันน้ำที่ไทยอ้างถึง แต่ไทยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่า กัมพูชาต้องการยื่นให้ศาลตีความในข้อบทปฏิบัติการ ข้อสรุปของ ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ อาจจะสับสน และมีความคิดแบบสุดโต่งมากกว่าที่เราคิดมาก่อน ซึ่งศาลโลกไม่เคยมีปัญหาว่า ประเทศที่ประสบปัญหาจะยื่นคำร้องมาในรูปแบบใด แต่การที่ไทยมีความเห็นว่า กัมพูชายื่นขอตีความเรื่องใหม่ในคดีเดิม ทำให้แปลกใจว่า ข้อบทปฏิบัติการกับผลคำตัดสิน จะแยกออกจากกันอย่างไร

นายฌอง มาร์ค ซอร์เวล ทนายชาวฝรั่งเศสของกัมพูชาอีกคน กล่าวว่า ศาลโลกมีความจำเป็นต้องมีเส้นแบ่งเขตแดนที่แท้จริงให้ปรากฏขึ้น ซึ่งเอ็มโอยูปี 2543 ก็ยังไม่สร้างความกระจ่างในเรื่องเส้นแขตแดน ที่อ้างว่า ไทยและกัมพูชาต้องมีการปักปันเขตแดนทางบก สิ่งนี้ได้สร้างความประหลาดใจว่า แผนที่ที่ใช้ในการเจรจาปักปันเขตแดนจะถ่ายทอดไปสู่พื้นที่จริง และกระบวนการปักปันเขตแดนจะเกิดขึ้นจริง และเป็นธรรมได้อย่างไร เมื่อ 2 ประเทศยังมีความห็นในเรื่องเส้นแดนที่แตกต่าง และแผนที่ L7017 ก็เป็นแผนที่ไทยได้ทำขึ้นเอง โดยที่ไม่ได้ยอมรับทั้งสองประเทศ

และนายฮอร์ นัมฮง ได้กล่าวปิดคำให้การของกัมพูชาว่า ขอบคุณศาลที่ให้ความสนใจต่อคดีนี้ที่ทำให้คู่ความได้แสดงเหตุผล ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งจะมีบทบาทต่อภูมิภาค ถ้าศาลไม่ตัดสินเรื่องข้อบทปฏิบัติการตามคำพิพากษา ปี 2505 จะมีผลตามมาที่ไม่เป็นที่น่ายินดีทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ได้ ศาลต้องทราบถึงวิธีการที่ประเทศไทยใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการยึดครองปราสาท การบาดเจ็บล้มตาย การต้องย้ายถิ่นที่อยู่ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ กัมพูชาจึงมีความชอบธรรมที่จะขอให้ศาลตีความเรื่องนี้เพื่อยุติข้อพิพาทที่ทำให้ไม่สามารถมีความสัมพันธ์อย่างสันติระหว่างสองประเทศได้

กัมพูชายืนยันเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งข้อพิพาทระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับการตีความวรรคแรก และวรรคสองข้อบทปฏิบัติการที่มีผลผูกพันจากคำตัดสินของศาลปี 2505 แผนที่ภาคผนวก 1 จะแยกจากคำตัดสินของศาลไม่ได้ เพราะสถานะของแผนที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว หมายถึงดินแดนที่เป็นข้อพิพาททั้งหมดเป็นของกัมพูชา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ