NIDA เผยกทม.ติดอันดับ 13 ในเอเชียเสี่ยงอากาศเป็นพิษก่อมะเร็ง แนะลดใช้รถส่วนตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday April 30, 2013 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า เผยกรุงเทพฯ ติดเมืองเสี่ยงรับสารพิษก่อมะเร็งในอากาศลำดับที่ 13 ของเอเชีย จากการตรวจพบสารก่อมะเร็งในฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน(PM10) เกินค่ามาตรฐานกว่า 2 เท่า โดยเฉพาะประชาชนในย่านการเคหะชุมชนดินแดง สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 และการไฟฟ้าย่อยธนบุรี เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดสูงสุดจากควันพิษไอเสียจากยานยนต์บนท้องถนน

"จากการนำค่าเฉลี่ยระดับความเข้มข้นสารก่อมะเร็งเปรียบเทียบกับเมืองต่างๆ ในเอเชียจะพบว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับ 13 ของเมืองที่ประชาชนมีความเสี่ยงที่ได้รับสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเมือง Baoji และเมือง Beijing ของจีน เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุด โดยมีค่าเกินมาตรฐานความปลอดภัยของ UK-EPAQS ถึง 98 เท่า และ 33 เท่า" นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าว

โดยการทำวิจัยครั้งนี้ได้นำข้อมูลตัวอย่างค่าฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน(PM10) ของกรมควบคุมมลพิษ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี ได้แก่ การเคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม การไฟฟ้าย่อยธนบุรี สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย4 การเคหะชุมชนดินแดง และโรงเรียนบดินทรเดชา ตั้งแต่ปี 2549-2552 มาตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศโดยเครื่อง shimadzu gcms qp2010 ultra พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs ในฝุ่น PM10 อยู่ที่ระดับ 554 พิโคกรัม หรือเกินค่ามาตรฐานถึง 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของ UK-EPAQS ที่ควรมีไม่เกิน 250 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนจุดที่มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุดจากจุดตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษทั้ง 7 จุด พบว่า การเคหะชุมชนดินแดงมีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นอยู่ที่ 990 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน 3.96 เท่า รองลงมาได้แก่ สถานีตำรวจโชคชัย 4 อยู่ที่ 704 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร การไฟฟ้าธนบุรีอยู่ที่ 603 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามาตรฐาน 2.8 และ 2.4 ตามลำดับ ขณะที่สภาพอากาศบริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งเฉลี่ยทั้งปีต่ำสุดที่ 292 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า คณะผู้ทำวิจัยฯ ยังได้นำค่าเฉลี่ย PAHs ที่จุดตรวจวัดทั้ง 7 จุดของกรุงเทพฯ มาคำนวณในแบบจำลองการจำแนกสัดส่วนแหล่งกำเนิด พบว่า ร้อยละ 80 ของสารก่อมะเร็งในอากาศของพื้นที่กรุงเทพฯ มีสาเหตุจากไอเสียของยานพาหนะ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวปรับเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอลล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดมลพิษในอากาศ แต่ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งในอากาศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ส่งผลให้ความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

"แทนที่รัฐบาลจะกระตุ้นให้ประชาชนในเมืองใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้สร้างมลพิษทางอากาศมากขึ้น และประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐควรหันกลับมารณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว" นายศิวัช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ