(เพิ่มเติม) รมว.พลังงานสั่งตั้งคณะทำงานสอบเหตุไฟดับภาคใต้-ใช้เป็นบทเรียนหาแนวทางป้องกัน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 22, 2013 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ว่า ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขจนสามารถจ่ายไฟได้เป็นปกติแล้ว ตั้งแต่เวลา 23.45 น.และได้มีการสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
"ยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และจะนำบทเรียนครั้งนี้มาศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกัน ทั้งในระยะสั้นและยาว" รมว.พลังงาน กล่าว

สำหรับการแก้ไขสถานการณ์นั้น กฟผ.ได้เร่งการผลิตไฟฟ้าจากทุกโรงไฟฟ้าในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต และเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และได้มีการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอีก 200 เมกะวัตต์

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีกำลังการผลิตเพียง 2 พันเมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้สูงถึง 2.5 พันเมกะวัตต์ ดังนั้นส่วนที่ขาดอยู่จึงต้องส่งกระแสไฟฟ้ามาจากพื้นที่ภาคกลาง

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า วานนี้(21 พ.ค.) เมื่อเวลา 18.52 น. เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ.ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้

ทั้งนี้สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สาย 500 kV จำนวน 2 เส้น และสาย 230 kV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 8.00 น.ของวันเกิดเหตุ กฟผ.ได้ปลดสายส่ง 500 kVจำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 kV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 kV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ

ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค.56 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6 ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางบางส่วน แต่ระบบส่งที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้มีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศในช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูง

ดังนั้น กฟผ. จึงมีแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นหลักประกันและลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ กฟผ.ไปดำเนินการขยายสายส่งไฟฟ้าให้เป็นขนาด 500 kV. ตลอดเส้นทางตั้งแต่บางสะพาน-หาดใหญ่ จากเดิมที่ใช้สายส่งขนาด 230 kV. เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการส่งไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมทั้งขยายสายส่งไฟฟ้าจากขนอม-ภูเก็ต จากปัจจุบันที่ใช้สายส่งขนาด 115 kV. ให้เป็นขนาด 500 kV.ด้วยเช่นกัน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณความต้องการใช้ไฟสูง เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งธุรกิจ

พร้อมกันนี้ ยังเห็นควรให้มีการปรับวิธีการสั่งการใหม่ในศูนย์ควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้า โดยต้องการให้มีการตั้งบุคคลที่สามารถมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินได้ ซึ่งปัจจุบันอำนาจดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า(เรกูเลเตอร์) รวมทั้งมอบหมายให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปหารือกับ 3 การไฟฟ้าและเรกูเลเตอร์ เพื่อดูแลปัญหาไฟฟ้าตก-ไฟฟ้าดับเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมในทั้งระบบด้วย

อย่างไรก็ดี จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้มองว่ามีความจำเป็นจะต้องเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วยนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขอให้แยกกรณีการสร้างโรงไฟฟ้านี้ออกจากเรื่องปัญหาไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้านั้นรัฐบาลจะพิจารณาในทุกพื้นที่ และก่อนจะมีการก่อสร้างต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ก่อน

"อยากจะให้แยกประเด็นเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กับปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ออกจากกัน โดยการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าต้องพิจารณาในทุกพื้นที่อยู่แล้ว และต้องให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับ" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อวานนี้ถึงหน่วยละ 16 บาท คิดเป็นเงิน 12 ล้านบาทนั้น รมว.พลังงาน ยอมรับว่าค่อนข้างแพง แต่มีความจำเป็นที่ต้องยอมจ่าย พร้อมเห็นว่าในอนาคตพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องขนาดของสายส่งไฟฟ้าเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ขึ้นอีก


แท็ก ภาคใต้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ