รมว.สธ.ย้ำรัฐไม่ลดค่าตอบแทนหมอ มั่นใจ P4P ปชช.ได้ประโยชน์-แก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Saturday June 8, 2013 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบาย P4P Pay for Performance หลักการจ่ายค่าตอบแทนตามการปฏิบัติงาน ว่าวัตถุประสงค์ของ P4P คือ การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แพทย์อยู่ในภาครัฐ หรือพื้นที่ชนบท ไม่แตกต่างจากแพทย์ของเอกชน และสูงกว่าแพทย์ในเขตเมืองหรือเขตปกติ ถือเป็นนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงิน นอกจากนี้ P4P ยังช่วยวัดผลการทำงานของบุคลากร จากเดิมการจ่ายค่าตอบแทนนั้นไม่ได้มีการวัดผลประเมินผลแต่ P4P จะวัดตามปริมาณงาน คุณภาพงาน จากการดูแลคนไข้ การประชุมวิชาการ ฯลฯ ทั้งนี้จึงถือว่า P4P เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข"ความตั้งใจของรัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจไปลดค่าตอบแทน แต่หากมีผลการปฏิบัติงานตามที่ประเมิน ก็จะได้มี P4P ไปบวก แต่บางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ชนบท ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาค่าตอบแทนในระดับของชนบทมาจ่าย เพราะเขตชนบทกับเขตเมืองก็ต่างกันแล้ว แต่ P4P จะมาช่วยเสริม ทำให้บุคลากรมีกำลังใจมากขึ้น" นพ.ประดิษฐ กล่าว

สำหรับการหารือกับชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้ทำความเข้าใจกันว่ามีวัตถุประสงค์ตรงกันหรือไม่ ซึ่งก็เข้าใจกันดีว่า P4P ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ และรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจที่จะไปตัดเงิน ซึ่งตอนนี้ P4P ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งก็จะทำต่อไป ส่วนตรงไหนที่มีปัญหาก็จะเข้าไปดูแล ในส่วนของกลุ่มที่ยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างน้อยไม่เกิน 1 ต.ค.56 ทั้งนี้ จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าสิ่งไหนต้องปรับปรุง และมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าระบบมันขัดข้องจริงๆ

ส่วนนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการการเงินเป็นหนึ่งในหลายมาตรการ ในการดูแลบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เรามีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มในชนบท โครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ แพทย์ที่ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็มีโอกาสเรียนต่อได้ไวกว่าในพื้นที่ปกติ หลายมาตรการที่เราใช้มีหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการการเงินที่ผ่านมาใช้ส่วนเดียว คือจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งก็ควรจะมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ที่อยู่ยาก และการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน กระทรวงฯ มีพนักงาน 1.8 แสนคน การจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ก็จะต้องมองว่าไม่เหลื่อมล้ำวิชาชีพอื่นด้วย

"บุคลากรเองก็เริ่มมีความพึงพอใจที่กระทรวงฯ เห็นคุณค่า และเห็นว่าคนทำงานหนัก ควรได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณงาน แต่บางส่วนยังมองว่าเป็นการสร้างภาระงาน ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามปกติ ทุกคนต้องเก็บรวบรวมผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือน" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นพ.ณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนด้านบุคลากรด้านการแพทย์ และการกระจายกำลังคน ถือเป็นปัญหาของกระทรวง ทั้งนี้กระทรวงจึงคิดที่จะดึงกำลังคนกลับมาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีโครงการผลิตแพทย์ชนบท 1 อำเภอ 1 แพทย์ ส่วนนักเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยจะจบมาปีละ 2,500 คน ซึ่งจะส่งผลให้การขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ลดน้อยลงเรื่อยๆ


แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ