คกก.สอบฯเผยน้ำมันรั่วลงทะเลไม่เกิน 5.4 หมื่นลิตร ส่วนสาเหตุต้องรอผลเชิงลึก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 14, 2013 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีน้ำมันดิบรั่ว เปิดเผยว่า จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้น โดยตั้งสมมุติฐานการไหลของน้ำมันออกจากท่อ ในระดับเลวร้ายที่สุด คือหากปริมาณน้ำมันไหลออกจากท่อที่เกิดเหตุทั้งหมด ปริมาณน้ำมันที่ไหลลงสู่ทะเลไม่น่าจะเกิน 54,341 ลิตร

ส่วนสาเหตุที่ท่อน้ำมันดิบแตก ต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบเชิงลึก โดยเบื้องต้นรอยแตกเกิดภายในท่อไม่ได้เกิดจากแรงกระแทกภายนอก เบื้องต้นกรณีคุณภาพของท่อน้ำมันของบริษัทต่างๆนั้น เห็นว่าแม้แต่จีนเองซึ่งใช้ท่อน้ำมันจาก 3 บริษัท ยังไม่สามารถหลีกหนีจากเหตุการณ์ท่อน้ำมันแตกไปได้ โดย PTTGC ใช้ท่อส่งน้ำมัน ในระยะเวลาเพียงปีกว่า และกำหนดระยะเวลาปลดระวางภายใน 6 ปี หรือเมื่อมีการใช้งานประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร ถือว่าใช้มาตรฐานสูงกว่าปกติ ซึ่งท่อน้ำมันมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯได้เสนอแนะ PTTGC ควรจะตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนสาเหตุการแตกของท่อโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูระยะสั้นระยะยาว รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆของรัฐ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนแผนรับมือจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นว่าบมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดีที่สุด และใช้ระยะเวลาไม่นาน ภายใต้สภาพอากาศที่มีคลื่นลมแรงซึ่งนับเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งเห็นว่าปฏิบัติการทางอากาศด้วยการโปรยสารเคมี ซึ่งใช้เวลาดำเนินการล่าช้า ในส่วนนี้อาจจะต้องประสานงานกับภาครัฐ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

นายวิเชียร กีรตินิจกาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยืนยันว่า การโปรยสารเคมีที่มีชื่อว่า ซิลิกอน และซุปเปอร์ดิสเพอร์แซ้นต์นั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ทางทะเลน้อยมาก และยืนยันว่าไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ก่อให้เกิดกลายพันธ์ และไม่เกิดการเสื่อมพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ เพราะเราไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว โดยสารดังกล่าวเป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วโลกและผ่านมาตรฐานการตรวจสอบแล้ว

"ปริมาณน้ำมันที่ไหลออกมาถือว่าไม่เยอะมาก แต่ถือเป็นบทเรียน และเป็นการเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเหตุการณ์นี้หากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เมื่อน้ำมันพัดขึ้นบก อาจแก้ไขสถานการณ์ได้ดีกว่าที่ผ่านมา"นายวิเชียร กล่าว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน รับปากจะเร่งสั่งการและซักซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีน้ำมันพัดขึ้นฝั่ง พร้อมทั้งจะสั่งการให้บริษัทน้ำมันร่วมกันซื้อเครื่งบินโปรยสาร เพื่อย่นระยะเวลารอคอย เครื่องบินจากต่างประเทศมาแก้ไขสถานการณ์ รวมทั้งสั่งระงับการใช้ท่อดังกล่าวจากบริษัทเอกชน จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ