เลขาฯสมช.ยันเปิดชื่อท่อน้ำเลี้ยง 136 รายบ่ายนี้ ย้ำความจำเป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 11, 2014 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.)จะแถลงรายชื่อภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)โดยมีจำนวน 136 ราย

ในจำนวนดังกล่าว 58 รายเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีกบฎที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ส่วนอีก 78 รายได้ผ่านการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ทางดีเอสไอ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน(ป.ป.ง) และตำรวจสันติบาลได้รวบรวมไว้

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ขณะนี้ในเชิงสถิติเชื่อว่ามวลชนที่เข้าร่วมกับ กปปส.มีจำนวนลดลง ซึ่งมวลชนที่เหลืออยู่อาจจะเป็นทั้งประชาชนที่สนับสนุนกปปส.และอาจเป็นมวลชนที่จัดตั้งขึ้น แต่เชื่อว่าเมื่อภาครัฐใช้กระบวนการที่ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมจะทำให้ผู้สนับสนุนถอยกลับไปเอง

สำหรับกรณีที่มีการคาดการณ์ว่ารูปแบบการชุมนุมอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีกลุ่มชาวนาเข้าร่วมนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เรื่องนี้ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาที่เข้าร่วมกับ กปปส.ได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเกรงว่าจะมีการดึงมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวคนละประเด็นกัน

ส่วนการจับกุมแกนนำตามหมายจับนั้น ยังคงดำเนินการต่อไป โดยจะพิจารณาตามสภาวะแวดล้อม ถ้าพร้อมก็จะเข้าจับกุม เช่น กรณีของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม แกนนำ กปปส. และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์ ส่วนกรณีที่ทนายของนายสนธิญาณ จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปล่อยตัวช่วยคราวนั้นก็ต้องขึ้นกับการพิจารณาของพนักงานสอบสวน แต่ขั้นตอนตามกฎหมายนั้นหลังจากที่ควบคุมตัวได้แล้ว เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวแล้วก็ยังสามารถไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลเพื่อขอผลัดฟ้องได้อีกครั้งละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน

เลขาธิการ สมช. ยอมรับว่า เป็นห่วงการชุมนุมที่เกรงว่าจะมีมือที่ 3 แฝงตัวเข้ามาก่อเหตุ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง ดังนั้นขณะนี้ได้พยายามประสานกลุ่มดูแลรับผิดชอบเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวนี้ ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น คงต้องพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่มองว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยยังไม่สามารถยกเลิกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ