กทม.หารือจังหวัดปริมณฑลร่วมบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลน-น้ำเค็ม

ข่าวทั่วไป Monday March 10, 2014 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมว่าที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกรุงเทพมหานครทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำเค็ม ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายให้สำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับจังหวัดปริมณฑลในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำ รวมถึงการศึกษาผลกระทบอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ การวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเพื่อไม่ให้เกษตรกร ชาวนา รับผลกระทบมากกว่านี้ การดำเนินการฝึกอาชีพให้กับเกษตรกรในช่วงที่ว่างจากการทำการเกษตร พร้อมหาตลาดให้ นอกจากนี้ ในระยะยาวจะต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการใช้น้ำในชีวิตประจำวันตลอดเวลาในทุกฤดูกาล ไม่ประหยัดเฉพาะในช่วงภัยแล้งเท่านั้น

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสำนักการระบายน้ำได้ประสานกรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำและระดับน้ำที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านเกษตรกรรม และประสานกรมทรัพยากรน้ำเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำต่างๆ สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาแล้วนั้น สำนักการระบายน้ำได้ให้การช่วยเหลือโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ดังนี้ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองหนึ่ง ตอนคลองหลวงแพ่ง จำนวน 6 เครื่อง โดยสูบน้ำจากคลองหลวงแพ่งเข้ามาในคลองหนึ่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่คลองลำสลิด ตอนคลองลำปลาทิว จำนวน 1 เครื่อง สูบน้ำลงคลองลำสลิดในพื้นที่เขตหนองจอก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในคลองให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม ขุดลอกเปิดทางน้ำไหล ได้แก่ บริเวณทางแยกเข้าโรงเรียนผลลีรุ่งเรือง ถนนเลียบคลองลำไซด์ชะมด บริเวณประตูระบายน้ำคลองหลวงแพ่ง และบริเวณคลองบึงแตงโม เขตคลองสามวา และขุดลอกผักตบชวาบริเวณคลองบึงใหญ่ เขตมีนบุรี

นอกจากนี้ ได้เตรียมน้ำจากโรงงานบำบัดน้ำเสียให้ประชาชนและหน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยมีให้บริการถึง 4 แห่ง มีน้ำผ่านเข้าบำบัด 500,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ได้แก่ ดินแดง หนองแขม ทุ่งครุ และจตุจักร เกษตรกรหรือประชาชนที่ต้องการใช้น้ำสามารถติดต่อขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดไปใช้ได้ โดยติดต่อที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำดังกล่าว นอกจากนี้อาจต้องหาน้ำใช้จากแหล่งน้ำใต้ดินหรือฝนเทียม เป็นต้น เตรียมรถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำให้ประชาชน ปิดประตูน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ในช่วงน้ำทะเลหนุน เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้ตั้งจุดตรวจวัดความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 9 จุด เพื่อเฝ้าระวังและตรวจวัดค่าความเค็มพร้อมบันทึกข้อมูลลงในเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกวัน รวมถึงตรวจสอบค่าระดับความเค็มในคลองสายหลักทั้ง 16 คลองด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพมหานครได้วางแผนการจัดการน้ำเสียและป้องกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกร ดังนี้ ปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำขึ้นและเปิดประตูระบายน้ำเมื่อน้ำลง เนื่องจากมีประชาชนใช้เรือสัญจรและใช้น้ำในคลองเพื่ออุปโภคบริโภค เปิดประตูระบายน้ำแนวคลองมหาสวัสดิ์ทางด้านเหนือเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ด้านใต้ทางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วสูบออกคลองสนามชัย ส่วนประตูระบายน้ำในโครงการแก้มลิงตะวันตก(ธนบุรี) จะปิดไม่ให้น้ำทะเลเข้าในพื้นที่แก้มลิงฯ ตลอดเวลาและจะเปิดระบายน้ำออกเมื่อน้ำทะเลไหลลง เพื่อป้องกันน้ำจากด้านตะวันตกและด้านใต้เข้ามา นอกจากนี้ ได้เก็บตัวอย่างน้ำเค็มและตรวจสอบวัดค่าความเค็มในคลองต่างๆ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นเกษตรกรธนบุรีทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบทราบ ในส่วนของประตูระบายน้ำตามคูคลองต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการ กรมชลประทานและสำนักงานเขตจะต้องให้ความร่วมมือและประสานงานกันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาปัญหา กทม.อาจต้องประสานกรมชลประทานเพื่อเพิ่มระดับการปล่อยน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาให้มากขึ้น เนื่องจากข้อมูลระบุว่าปัจจุบันน้ำเค็มรุกสูงขึ้นมาถึงสำแล จ.ปทุมธานี จึงอาจต้องมีแผนผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง สูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองพระยาบรรลือ มาเจือจางความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ