สธ.สั่งคุมเข้มจับตา 3 ประเทศอีโบล่าระบาด ออก 5 มาตรการป้องกัน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 5, 2014 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สั่งการให้ทุกจังหวัดคุมเข้ม 5 มาตรการเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างใกล้ชิด เน้นกลุ่มที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศแหล่งระบาด คือ กีนี ไลบีเรีย เซียลาลีโอน ในพื้นที่สนามบินนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต สุวรรณภูมิ และดอนเมือง พร้อมให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพตรวจสอบมาตรฐานความพร้อมห้องแยกโรคในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ จ.จันทบุรี นั้นป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง

"ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดระบบการเฝ้าระวังสอบสวนป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เน้นในกลุ่มที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียราลีโอน" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ภายใน 21 วันหลังเดินทางให้สอบสวนโรคทุกราย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่งทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินการเฝ้าระวัง ร่วมกับกรมควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีสนามบินนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต, หาดใหญ่ จ.สงขลา, เชียงใหม่, สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ซึ่งขณะนี้มีผู้เดินทางมาจาก 3 ประเทศนี้ลดลง เฉลี่ยวันละ 3-5 ราย ทุกรายจะใช้วิธีการตรวจวัดไข้อย่างละเอียด ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการใช้เครื่องเทอร์โมสแกน และจะบันทึกประวัติ สถานที่พัก และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติทุกวัน จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้มีไข้เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ให้เตรียมห้องแยกโรคในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง พร้อมให้การดูแลหากมีผู้ป่วยสงสัย โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตรวจสอบมาตรฐานห้องแยกโรค ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์, เตรียมระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตามมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ สถาบันบำราศนราดูร ได้จัดทำมาตรฐานห้องแยกโรค และระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลส่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว, เตรียมระบบการส่งตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการในรายที่สงสัย ให้ประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่หากพบผู้ป่วยสงสัย เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการเก็บตัวอย่างตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดให้ส่งไปตรวจที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงสุด และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อออกไปสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจโรคดีขึ้น ลดความตื่นตระหนก

สำหรับมาตรฐานการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยสงสัย ได้ให้กรมการแพทย์จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นคู่มือแก่แพทย์ ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคติดเชื้อ เป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ที่ให้การรักษาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

"โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคที่ติดต่อทางสารคัดหลั่ง เหมือนโรคเอดส์และไวรัสตับอักเสบ บี ไม่ติดต่อทางการหายใจ ติดต่อได้ทางการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว หรือศพผู้เสียชีวิต ดังนั้นสถานการณ์ของไทยขณะนี้ จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ประชาชนไม่ต้องวิตก เนื่องจากไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย และมีผู้ที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศนี้น้อยมาก ซึ่งทุกรายได้ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ด่านควบคุมโรค สามารถติดตามอาการได้ และทุกประเทศตื่นตัวในการป้องกันโรคในประเทศ โดยเฉพาะที่สนามบิน จึงขอให้มั่นใจมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้จัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันเรื่องนี้ไว้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก" นพ.ณรงค์ กล่าว

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งป่วยหลังเดินทางกลับจากประเทศโมซัมบิก ทวีปแอฟริกา และเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ในจังหวัดจันทบุรี ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบว่าป่วยด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง รวมทั้งติดเชื้อบิดด้วย ไม่ใช่เชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด ขณะนี้ได้ย้ายไปรับการรักษาที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลพระปกเกล้า อาการยังทรงตัว ใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์ให้ยารักษามาลาเรียทางหลอดเลือดและดูแลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามที่จังหวัดจันทบุรีขณะนี้ มีชาวแอฟริกาเดินทางเข้าออกประเทศไทย มาค้าขายเพชรพลอย จำนวนประมาณ 300 คน ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จ.ชลบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ แม้ว่าพ่อค้าเหล่านี้จะไม่ได้เดินทางไป 3 ประเทศที่มีการระบาดก็ตาม

ล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั้งหมด 1,440 ราย เสียชีวิต 826 ราย ใน 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียราลีโอน และไนจีเรีย โดยที่ไลบีเรีย เซียราลีโอนยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น และองค์การอนามัยโลกได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมควบคุมโรคแล้ว ส่วนไนจีเรียขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ระบาด ได้ให้กรมควบคุมโรคและผู้เชี่ยวชาญประชุมวอร์รูมติดตามประเมินสถานการณ์ทุกวัน และให้สำนักระบาดวิทยาสรุปสถานการณ์ทุกสัปดาห์ เพื่อรายงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกวันอังคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ