ครม.รับทราบแผนบริหารน้ำคาดแล้วเสร็จ ต.ค./สั่งใช้มาตรการระยะสั้นรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 16, 2014 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารทรัพยากรน้ำรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการทำงานของคสช. ในช่วงที่ผ่านมา และการทำงานของอนุกรรมการ 5 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ดูแลบริหารจัดการน้ำ ดูแลการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ การจัดตั้งองค์กรข้อกำหนดและกฎหมายต่าง ๆ และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมี 3 ระยะในการทำงาน คือ 1.ร่างโครงการแผนงาน 2. กำหนดรายละเอียดแผนงาน 3.จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 และคาดว่าแผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จปลายเดือน ต.ค.

นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยเกี่ยวกับน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำหลาก และปัญหาคลื่นซัดชายฝั่ง ซึ่ง ครม.ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ละรูปแบบในระยะสั้น

สำหรับปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และในวันที่ 16 – 18 กันยายน 2557 เป็นต้นไปก็จะมีอิทธิพลของพายุใต้ฝุ่นคัลแมกี อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่เฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น

ส่วนปัญหาขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากอัตราการคายระเหยน้ำสะสมสูง จำนวนวันฝนตกมาก ปริมาณฝนสะสมต่ำ มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ แพร่ พิจิตร นครสวรรค์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ เป็นต้น

ด้านปัญหาเรื่องของน้ำหลากเป็นผลอันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และ แพร่ เป็นต้น ขณะที่ปัญหาคลื่นซัดฝั่ง มีพื้นที่เฝ้าระวัง คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการระยะสั้น ดังนี้ คือ 1) เร่งปรับปรุงฟื้นฟูระบบระบายน้ำของชุมชนเมืองที่สำคัญ คือ จังหวัดนครราชสีมา สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ 2) การทำฝนหลวงเน้นพื้นที่ที่ศักยภาพให้มากที่สุด และสร้างแหล่งน้ำประจำตำบลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3) เจาะบ่อบาดาลเร่งด่วนในพื้นที่ศักยภาพช่วยภัยแล้งที่จะมาถึง เตรียมจุดจ่ายน้ำ เตรียมการแจกจ่ายน้ำวิธีต่าง ๆ

4) ป้องกันระบบประปาบ่อน้ำตื้น บ่อบาดาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำและน้ำหลาก และเร่งฟื้นฟูเป่าล้างระบบดังกล่าวเมื่อน้ำลด 5) รณรงค์มาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และควรจะเร่งรัดให้ภาคอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำของตนอย่างเพียงพอ 6) การปรับแผนการผลิตการเกษตรให้ใช้น้ำตามศักยภาพและการหาอาชีพเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่มีศักยภาพการส่งน้ำ และ7) ลำน้ำที่ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งมากก็ต้องระวังเรื่องของตลิ่งทรุด

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมให้เตรียมการป้องกันภัยแล้ง โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลลำน้ำยม โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำไปสู่พื้นที่แก้มลิง รวมถึงถนนที่อาจจะขวางกั้นทางเดินน้ำ ส่วนการขุดแก้มลิงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการเพื่อที่เม็ดเงินก็จะได้ตกอยู่ในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังฝากให้หน่วยงานต่าง ๆ หาวิธีเก็บกักน้ำ ถึงแม้จะมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกไปเนื่องจากน้ำท่วม แต่ต้องสามารถเก็บกักน้ำไว้ในส่วนของช่วงต่อไปเพื่อรองรับภาวะแล้งที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น การขุดบ่อ การเจาะท่อลอดไว้ เป็นต้น อีกทั้งฝากให้พิจารณาการกำหนดโซนนิ่งการเพาะปลูกพืชให้มีความเหมาะ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ผักออร์แกนิค ซึ่งตลาดยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ