กรมชลฯ เตือนงดเพิ่มพื้นที่ทำนาปรังลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ หลังเข้ากลางฤดูแล้งแล้ว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2015 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดเพิ่มพื้นที่ทำนาปรังต่อเนื่อง สำหรับปริมาณน้ำที่ระบายลงมาในขณะนี้ จะเน้นไปใช้ในเรื่องของการอุปโภค-บริโภค การผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ช่วงกลางฤดูแล้งแล้ว เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อผลผลิตขาดแคลนน้ำในอนาคต

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(9 ก.พ.58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,941 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,141 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,667 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,871 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 554 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 511 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 578 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 575 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 6,044 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,866 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนจัดสรรน้ำฯ(แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งฯ กำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ล่าสุด(ณ 30 ม.ค. 58) มีรายงานว่า เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 4.40 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ