กรมชลฯ เล็งขยายทำนาแบบแกล้งข้าว"เปียกสลับแห้ง"เต็มพื้นที่ในปี 60

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดทำงานวิจัย “โครงการสาธิตทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว” ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว(Alternate Wetting and Drying : AWD) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การทำนาแบบใช้น้ำน้อย” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ช่วยลดปริมาณน้ำการใช้น้ำ โดยไม่กระทบต่อผลผลิตข้าว ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการขังน้ำไว้ในแปลงนาที่ระดับความลึก 5 เซนติเมตร ในช่วงหลังปักดำ(อายุข้าว 15 – 20 วัน) จนกระทั่งข้าวอยู่ในช่วงของการตั้งท้องออกรวง จึงจะเพิ่มปริมาณน้ำในแปลงนาให้อยู่ในระดับที่ 7 – 10 เซนติเมตร โดยจะปล่อยให้ข้าวขาดน้ำ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงที่ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้น(อายุข้าว 35 – 45 วัน) เป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าระดับน้ำในแปลงนาจะลดลงต่ำกว่าผิวแปลง 10 – 15 เซนติเมตร หรือดินในแปลงนาแตกระแหงนั่นเอง และครั้งที่ 2 ช่วงที่ข้าวกำลังแตกกอสูงสุด(อายุข้าว 60 – 65 วัน) เป็นเวลา 14 วันเช่นกัน ซึ่งการปล่อยให้ข้าวอดน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และการสร้างผลผลิต ที่สำคัญสามารถประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 30 - 40 เลยทีเดียว

จากผลการทดลองที่ได้ดำเนินการในแปลงนาสาธิตที่ สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นั้น ได้ผลสรุปว่า การทำนาแบบปกติทั่วไป จะใช้น้ำประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะใช้น้ำเพียง 860 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงจากเดิม ไร่ละประมาณ 5,600 บาท เหลือประมาณ 3,400 บาท หรือลดลงถึงร้อยละ 40 อีกทั้ง ยังทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดี และผลผลิตที่ได้ยังใกล้เคียงกับการทำนาแบบปกติ เกษตรกรมีผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้นด้วย

ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้ขยายการทดลองดังกล่าว ไปใช้ในพื้นที่ชลประทานนำร่องอีก 4 แห่ง ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย จ.อุบลราชธานี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร และสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี คาดว่าจะสามารถดำเนินการทำนาปรังแบบเปียกสลับแห้ง อย่างเต็มพื้นที่ได้ภายในปี 2560 เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในแปลงนาแบบเดิมๆ ที่ใช้น้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะในบางปีที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง น้ำต้นทุนมีน้อย จะทำให้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ