รัฐบาลยันเร่งแก้สถานการณ์ภัยแล้งตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานไปสู่การปฏิบัติเป็นแผนเร่งด่วนเฉพาะหน้า และภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติปี 2558 โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาในภาพรวม โดยทางกระทรวงมหาดไทยก็รับช่วงมาดำเนินการในรายละเอียด คงต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาขณะนี้เป็นระยะกลาง และระยะยาว ให้มีการประสานงานในระดับผู้บริหารนโยบายของแต่ละหน่วยงานไปจนถึงผู้ปฏิบัติ เพื่อผลักดันเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมในการจัดการสาธารณภัยอย่างยั่งยืน การลดความเสี่ยง เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนต้องเฝ้าระวัง รวมถึงความพร้อมของหน่วยงาน รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตามแผนงานและโครงการเพื่อช่วยฟื้นสังคม และพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งตามแผน ปภ.ชาติฉบับนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทางภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ต้องร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่การจัดการสาธารณภัยอย่างยั่งยืน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า แผน ปภ.ปี 58 จะครอบคลุมไปถึงปี 2573 โดยสหประชาชาติจะเป็นผู้ดำเนินการ ถือเป็นความร่วมมือของทุกๆประเทศ ภายใต้กรอบการทำงานเซนไดลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ที่มีหลักใหญ่คือ ใช้แนวทางลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีการจัดรายละเอียดองค์กรตั้งแต่ระดับนโยบายไปถึงผู้ปฏิบัติ อาศัย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันทั้งแผนและกรอบดังกล่าว

ขณะที่นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส กล่าวว่า ในเวทีระหว่างประเทศ การป้องกันลดความเสี่ยงสาธารณภัยถือได้รับการสนับสนุนและสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องจัดการกับปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประชาชนสูญเสียจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ ถึง 7 แสนกว่าราย บาดเจ็บ 1.4 ล้านคน และอีก 1.7 พันล้านคน ได้รับผลกระทบ สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจถึง 10 ล้านล้านบาท ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ประเทศไทยได้รับบทบาทหลักในเวทีระหว่างประเทศ โดยเราต้องยึดกรอบเซนไดเน้นการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ เพราะเราคงป้องกันไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อลดผลกผลกระทบที่จะเกิด

นี่คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด โดยที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมกัน ดำเนินการในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ จนถึงท้องถิ่น โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ได้บรรจุเข้าไปใหม่ในกรอบเซนไดด้วย ถือเป็นภารกิจความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากเวทีโลก ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ให้ความรู้นักวิชาการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ