(เพิ่มเติม) นายกฯ สั่งมาตรการเร่งด่วนจ้างงานผู้รับผลกระทบภัยแล้งจังหวัดละ 10 ลบ.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับไปจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งในทุกจังหวัด ซึ่งจะใช้งบประมาณจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีอยู่จังหวัดละ 10 ล้านบาทดำเนินการไปก่อน

ส่วนมาตรการต่อไปจะมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมในการปลูกพืชหมุนเวียนทดแทนในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ส่วนระยะที่ 3 รัฐบาลเตรียมจัดหางบประมาณมาดูแลความเสียหายให้เกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้

"ไม่อยากเห็นภาพที่ชาวนาออกมาร้องไห้ เพราะถือเป็นการบีบคั้นผมเช่นเดียวกัน จึงไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ แต่อยากเห็นภาพน้ำตาแห่งความดีใจมากกว่า"นายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบนั้น รัฐบาลมีการดำเนินการโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งยืนยันว่าจะต้องไม่ให้มีการขาดแคลนน้ำจนถึงปี 69 ซึ่งการดำเนินการจะแบ่งเป็นช่วงเวลา มีการกำหนดโครงการชัดเจน และใช้งบประมาณในแต่ละปีในการบริหารจัดการ เบื้องต้นในช่วงปี 58-59 จะเน้นหาแหล่งน้ำเพิ่ม สร้างระบบส่งน้ำ จัดทำโครงการแก้มลิง ส่วนการขุดบ่อน้ำนั้น ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 5-6 พันบ่อ แต่เนื่องจากฝนยังไม่ตกจึงยังไม่มีน้ำให้เก็บกัก

"สิ่งที่เป็นห่วง คือ อยากให้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้นว่า รัฐบาลพยายามบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพื่อไม่ให้กระทบการอุปบริโภค"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) จะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการบริหรน้ำทั้งระบบ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภไว้ในที่ประชุมเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งว่า วันนี้จะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะภาคการเกษตรว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่จำเป็นจะต้องจัดลำดับความเร่งด่วนในพื้นที่ที่จำเป็นต้องดูแลเร่งด่วนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, ทหาร ขณะเดียวกันก็ต้องลดการระบายน้ำลงให้ได้เหลือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.ตามแผน เพื่อให้น้ำสำหรับระบบประปายังเดินต่อไปได้ และไม่เกิดผลกระทบให้น้ำเค็มเข้ามาเจือปนกับน้ำอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ขออนุมัติหลักการเงินให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในลักษณะของการระงับยับยั้งภัยพิบัติจังหวัดละ 10 ล้านบาท แต่ขณะนี้ได้มีความเสียหายเกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งหากนำเงินตรงนี้มาใช้จะผิดกฎระเบียบ อาจจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกตั้งข้อหาได้ว่าใช้เงินผิดประเภท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำมาขออนุมัติหลักการจากที่ประชุม ครม.ในวันนี้ก่อน

โดยในการปฏิบัติจริง กระทรวงมหาดไทยจะต้องนำรายละเอียดพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติประสานงานกระทรวงคลัง โดยกรมบัญชีกลาง จะดำเนินการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้ดำเนินการได้ใน 1-2 วันนี้ เงินงบประมาณ 10 ล้านบาทจะมีการบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 ส่วน คือ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกระทรวงเกษตรฯ

"ท่านนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าให้ประสานข้อมูล ความร่วมมือกันให้ดี เพื่อให้การจ้างงานในแต่ละพื้นที่ จะได้ไม่เกิดเป้าหมายที่ทับซ้อนกัน เงินจะได้กระจายไปครบถ้วนทุกพื้นที่" รองโฆษกฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ