รมว.เกษตรฯ คาดฝนตกช่วงต้นเม.ย.ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งได้บางพื้นที่ ยันน้ำเค็มหนุนไม่กระทบน้ำประปา

ข่าวทั่วไป Thursday March 31, 2016 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 ว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ซึ่งมีประเมินสภาพอากาศ และปริมาณฝนที่จะตกในช่วงฤดูแล้ง พบว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบันยังมีเพียงพอ สามารถบริหารจัดการน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ขณะเดียวกันในช่วงเดือนเมษายนจะมีน้ำฝนเพิ่มขึ้นช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนได้บางส่วน

ขณะที่การผลิตน้ำประปายืนยันว่าไม่มีการหยุดผลิตน้ำประปาในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำเค็มเกินค่ามาตรฐานจนไม่สามารถนำน้ำมาผลิตน้ำประปาได้ การประปานครหลวง (กปน.) จะแก้ไขปัญหาโดยการหยุดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้น้ำดิบจากคลองประปาที่สำรองไว้มาใช้แทน ดังนั้นประชาชนมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้ง ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 582 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเกณฑ์ผลิตไฟฟ้าต้องมีไม่น้อยกว่า 175 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น การนำน้ำก้นอ่างมาใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน

ด้านความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการในภาพรวมมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 60 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนเมษายน มาตรการที่ 2 ชะลอหรือขยายระยะเวลาหนี้ ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์และธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อ จำนวน 150,000 ราย เป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท มาตรการที่ 3 ได้มีการจ้างแรงงาน รวม 338,471 ราย เป็นเงิน 2,640 ล้านบาท ส่วนมาตรการที่ 4 การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง มีความคืบหน้าโดยเฉพาะในระยะที่ 2 มีความคืบหน้าเบิกจ่ายเงินไปแล้วกว่าร้อยละ 57 ซึ่งจะเร่งติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วที่สุด มาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ มาตรการที่ 6 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง 100 แปลง พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล 3,165 แห่ง รวมทั้งมีการทำแก้มลิง 16 แห่ง ในส่วนของมาตรการที่ 7 ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่แยกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำดื่มแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการที่ 8 ได้ดำเนินการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตร จำนวน 208,088 ราย หรือกว่าร้อยละ 94

สำหรับพื้นที่ความเสียหายจากภัยแล้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558-มีนาคม 2559 พบว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 2.86 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2 ล้านไร่ พืชไร่ 8.6 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ ประมาณ 5,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 15,514.65 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่ประสบความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีถึง 1.35 ล้านไร่ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนั้น ขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 14,980 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 จากงบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ