สธ.พบทารกศีรษะเล็กจากไวรัสซิก้า 2 ราย ส่วนอีก 1 รายยังรอผลตรวจเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2016 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กล่าวว่า ผลการตรวจเด็กศีรษะเล็กที่คลอดแล้ว 3 ราย หลังจากทบทวนข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลด้านคลินิก และข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว คณะกรรมการวิชาการมีความเห็นว่า พบทารกศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา 2 ราย (Zika related Microcephaly) ส่วนอีก 1 รายยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจน จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่เป็นสาเหตุหลักเพียงสาเหตุเดียวที่มีโอกาสทำให้ทารกเกิดภาวะศีรษะเล็ก แท้จริงแล้วสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น 1.การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH (Syphilis, Toxoplasmosis, Rubella, Cytomegalovirus, Herpes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิตบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไปและมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด 2.ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น 3.มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด และ 4.ภาวะการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าภาวะศีรษะเล็กมีความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสซิกา แต่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียว อาจมีปัจจัยร่วมอย่างอื่นด้วยที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยต่อไป พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในปีนี้ อาจมีจำนวนสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของระบบเฝ้าระวังทั้ง 4 ด้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน แต่จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่พบมานานแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคและวิธีการวินิจฉัยโรคนี้ยังมีอยู่น้อยมาก ดังเช่น การเกิดภาวะศีรษะเล็กเป็นภาวะที่เพิ่งได้สังเกตและตรวจพบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศแถบอเมริกาใต้

ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลในปี 57 พบว่าทารกที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็กทันทีเมื่อแรกเกิดมี 31 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 4.36 รายต่อจำนวนเด็กเกิดมีชีพ 100,000 ราย และมีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็กมีจำนวน 159 ราย คิดเป็นความชุกจำเพาะอายุเท่ากับ 22.34 รายต่อประชากรแสนราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ