กรมทรัพยากรน้ำ ใช้งบ 233 ลบ.จ้างที่ปรึกษาสำรวจ-พัฒนาแหล่งน้ำ ต่อยอดสู่ยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี

ข่าวทั่วไป Monday November 7, 2016 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างที่ปรึกษา ผู้รับผิดชอบและบริหารโครงการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบแหล่งน้ำ และทางน้ำธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืน เปิดเผยว่า สำนักพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ใช้งบประมาณ 223 ล้านบาท ในการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์สูงด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบแหล่งน้ำ และทางน้ำธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

หลังจากพบว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับความต้องน้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปัญหาที่ผ่านมาเกี่ยวกับเส้นทางเดินน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งบางพื้นที่ถูกบุกรุก มีการใช้ที่ดินผิดประเภท การถมดินที่ปราศจากการควบคุมในเรื่องระดับความสูงต่ำ ทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดการกัดเซาะ การพัดพาตะกอนดินลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินจนเกิดอุทกภัยและคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม

โดยบริษัทที่ว่าจ้างเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 1.บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด 2.บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 3.บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และ 4.บริษัท ทีดับเบิ้ลยูไอ คอนซัลแตนส์ จำกัด และ 5.บริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งได้เริ่มศึกษาไปตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.59 และจะสิ้นสุดการศึกษาในวันที่ 10 ก.ย.2560 รวมระยะเวลา 360 วัน

สำหรับขั้นตอนการทำงานในระดับเชิงนโยบายนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะต้องนำเสนอความคืบหน้าของโครงการต่อผู้บริหารเป็นระยะ เพราะมีผลผูกพันกับงบประมาณ อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบและสอดคล้องกับกับเหตุที่เกิดขึ้นจริง ต้องรู้สาเหตุและแก้ปัญหาให้ถูกจุด รวมถึงทิศทางการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายประยุทธ์ กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ จะทำให้กรมทรัพยากรน้ำ มีแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติประเภท หนอง บึง เส้นทางน้ำ ครอบคลุมทั้งประเทศ 254 ลุ่มน้ำสาขา และจะทำการคัดเลือกโครงการในพื้นที่ทุกภูมิภาคที่เหมาะสม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจ เป็นโครงการนำร่อง 28 ระบบโครงข่าย ซึ่งจะเป็นผลทำให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำในระดับลุ่มน้ำสาขา โดยมีเป้าหมายการเก็บกักน้ำทั่วประเทศประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในอีก 20 ปีต่อจากนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ