กรมควบคุมโรควาง 5 มาตรการบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้าลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Saturday April 1, 2017 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 6-11 เมษายน 2560 จะมีการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ สื่อสารประชาสัมพันธ์กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค โดยจะเน้นย้ำ 5 มาตรการเฝ้าระวัง บังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้าและลดอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด คือ 1.ห้ามดื่มบนทางในขณะขับขี่หรือโดยสาร 2.ห้ามขายให้บุคคลต่ำกว่า 20 ปี 3.ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด 4.เฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์กฎหมายเน้นจังหวัดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนบุหรี่และสุรา และ 5.เฝ้าระวังรายงานผลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยแอลกอฮอล์

ส่วนในวันที่ 13-15 เมษายนนี้ จะเป็นการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบตามกฎหมาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค สถานีตำรวจภูธร สำนักงานสรรพสามิต ประชาสัมพันธ์จังหวัด โดยจะดำเนินการลงพื้นที่ในพื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดในปี 2559 ข้างต้น เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบการจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยสถิติที่ผ่านมาพบว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด สาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีอาการมึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อปี 2559 พบว่า 11 จังหวัดที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตสูงที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และชลบุรี ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทำแผนเพื่อดำเนินการและประสานเพื่อให้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบและร่วมปฏิบัติการเฝ้าระวังอัตราการสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเปลี่ยนจาก "เทศกาลนับศพ ให้เป็นเทศการแห่งความสุข"

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 บริเวณสถานประกอบการบริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี จากการตรวจสอบสถานประกอบการจำนวน 5 แห่ง พบการกระทำผิดในสถานประกอบการทั้ง 5 ราย ในบริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นการกระทำความผิดฐานการลดราคาเพื่อส่งเสริมการขายและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ม.30, 32) จำนวน 4 ราย และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 1 ราย

"การตรวจสอบครั้งนี้เกิดจากการแจ้งเหตุโดยภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรคจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว" นพ.นิพนธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ