(เพิ่มเติม) กรมชลฯ เฝ้าระวังลุ่มน้ำมูลหลังแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง, สั่งลดระดับน้ำในอ่างฯ เตรียมพร้อมรับมือหากฝนตกหนัก

ข่าวทั่วไป Monday August 7, 2017 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบางจุดในลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากลุ่มน้ำชี และลำเซบายก่อนที่น้ำจะไปลงมาถึงสถานีวัดน้ำ M.7 (บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 2,768 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับสูงกว่าตลิ่ง +0.78 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดอยู่ในเกณฑ์ 3,000-3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในส่วนของตัวเมืองสกลนครนั้นเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือพื้นที่รอบนอกที่อยู่ติดกับหนองหารยังมีน้ำท่วมขังที่ลุ่มต่ำเป็นแห่งๆ นอกจากนี้ยังมีอำเภอรอบนอกที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในเขต อ.สว่างแดนดิน อ.วานรนิวาส อ.พังโคน อ.พรรณานิคม และ อ.วาริชภูมิ รวมกันประมาณ 79,068 ไร่ ซึ่งโครงการชลประทานสกลนครได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแล้ว

ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำในเขต จ.นครพนม ที่รับน้ำต่อมาจาก จ.สกลนคร นั้นยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 26,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังเหลือในพื้นที่ทั้งสองฝั่งลำน้ำก่ำประมาณ 41 ล้านลุกบาศก์เมตร ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำได้เร่งระบายน้ำที่ท่วงขังในพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม ด้วยการเปิดทางระบายน้ำสองจุด เร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำอีกทางหนึ่ง ก่อนที่จะระบายน้ำทั้งหมดลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับต่อไป หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบัน (7 ส.ค.60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 1,711 ล้านลุกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของความจุอ่างฯ 84.90 ล้านลุกบาศก์เมตร ยังคงการระบายน้ำอยู่ที่ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน 5 อำเภอได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ อ.เมือง ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ

ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมรับมือ นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวยังได้ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนให้ได้รับทราบถึงสถานการณ์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยพร้อมกันนี้ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ได้ย้ำเรื่องการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยให้โครงการชลประทานทุกแห่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำในในอ่างเก็บน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ เพราะเมื่อมีฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำของแต่ละอ่างฯ ต้องติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมปฏิบัติการและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ลำน้ำสายหลัก พร้อมเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด

เนื่องจากปริมาณน้ำไหลลงมาสมทบ จึงต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล รวมถึงภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนริมลำน้ำและพื้นที่การเกษตร แยกเป็น ลุ่มน้ำชีตอนล่าง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่องคำ อำเภอกมลาไสย และอำเภอฆ้องชัย, จ.ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจังหาร และอำเภอทุ่งเขาหลวง, จ.ยโสธร ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวัง และอำเภอคำเขื่อนแก้ว

ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านกู่ และอำเภอสุวรรณภูมิ สุรินทร์ ในพื้นที่อำเภอท่าตูม, จ.บุรีรัมย์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคูเมือง อำเภอกัณทรารมย์ และอำเภอสตึก และจ.อุบลราชธานี ในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขื่องใน อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอตาลสุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตระการพืชผล และอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ทำให้ระดับน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัวและเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพื้นที่ประสบอุทกภัยขยายวงกว้างมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้กำชับให้บูรณาการการใช้และหมุนเวียนทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมสถานการณ์ภัยมิให้ขยายวงกว้าง เพิ่มมากขึ้นและให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยน้อยที่สุด

สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ได้ประสานให้เร่งสำรวจ ประเมินและจัดทำบัญชีความเสียหายครอบคลุมทุกด้านตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าถึงระดับครัวเรือนและครอบคลุมทุกมิติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ