คมนาคม-กรมทางหลวงชนบท-กทม.-BTS ได้ข้อสรุปขยายสถานีสะพานตากสิน แก้ปัญหาคอขวด

ข่าวทั่วไป Thursday August 10, 2017 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม "การปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า สถานีสะพานตากสิน (S6)" ร่วมกับ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)

เบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาคอขวดของสถานีตากสิน ซึ่งปัจจุบันเป็นทางวิ่งเดียว ทำให้ขบวนรถรถไฟฟ้าต้องรอหลีก การบริการไม่สะดวก โดยจะขยายปีกสะพานตากสินทั้งสองด้านออกไปฝั่งละ 1.80 เมตร เป็นระยะทาง 230 เมตร เพื่อคงผิวจราจรฝั่งละ 3 ช่องจราจรไว้เท่าเดิมตลอดเวลา ส่งผลให้ตัวสะพานเบี่ยงออกมานิดหน่อย แต่จะไม่กระทบต่อความแข็งแรงและปลอดภัย เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับขยายตัวสถานีตากสินเพื่อวางรางเพิ่มอีก 1 ราง ทำให้รถไฟฟ้าจะวิ่งสวนทางกันได้ไม่ต้องรอหลีก และไม่ต้องย้ายสถานีตากสิน โดยจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดอีกประมาณ 5 เดือนจึงจะเริ่มก่อสร้าง

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การขยายสะพาน 300 ล้านบาท การขยายตัวสถานีประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่ง กทม.รับไปพิจารณา สำหรับการดำเนินการทั้งหมดนับจากเดือน ก.ย.60 จะใช้ระยะเวลา 27 เดือน สิ้นสุดเดือน ธ.ค.62 จึงจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 2 ทางวิ่งได้ โดยจะมีคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม-กรมทางหลวงชนบท-กทม.-บีทีเอส-กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) คอยกำกับดูแลการดำเนินการ และถึงแม้การขยายสะพานดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ กทม.จะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนเพื่อความรอบคอบ

ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ข้อยุติในการขยายช่องจราจรออกไปอีกด้านละ 1.80 เมตร ยาว 230 เมตร เป็นรูปแบบที่ไม่มีปัญหาเชิงวิศวกรรมและไม่กระทบการจราจร

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า เมื่อขยายสถานี S6 และทางวิ่งแล้ว จะทำให้สามารถบริหารการเดินรถได้สอดคล้องกันได้ และแก้ไขปัญหาความแออัด โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสมีผู้โดยสารประมาณ 8 แสนคน/วัน

ขณะที่นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานี S6 เป็นหัวใจสำคัญของ กทม.ในระบบการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถ-เรือ-ราง ซึ่งได้หารือในเรื่องการปรับปรุงท่าเทียบเรือสาทรด้วย ซึ่ง กทม.จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อพิจารณาด้านการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะต้องดูแลเพิ่มเติม รวมถึงการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย คนจรจัด หรือสภาพเสื่อมโทรมด้านล่างทั้งหมด เป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือปรับปรุง พื้นที่นี้เป็นแลนด์มาร์ค ของ กทม. เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครให้เกิดการสมดุลของเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ