กรมชลฯ เตรียมพื้นที่ทำทุ่งแก้มลิงรับน้ำเหนือบรรเทาปัญหาอุทกภัย หลังคาดต้นก.ย.มีฝนเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Tuesday September 5, 2017 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในช่วงวันที่ 5 - 7 ก.ย. 60 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลางภาคตะวันออกและภาคใต้รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนในช่วงวันที่ 8-10 ก.ย.60 ประเทศไทยจะมีฝนลดน้อยลงเว้นแต่ภาคใต้มีฝนมากกว่าภาคอื่นๆนั้น

สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศปัจจุบัน (5 ก.ย.60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 52,298 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดมากกว่าปี 2559 รวม 13,076 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 28,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 สามารถรองรับน้ำได้อีก 22,916 ล้านลบ.ม.เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 15,140 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกันปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,674 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,444 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 4,770 ล้านลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,731 ล้านลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (5 ก.ย.60) จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 1,858 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัว ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.27 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,498 ลบ.ม./วินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 409 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ จะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าคลองชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่พร้อมกับทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์เพื่อชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับการควบคุม(ไม่เกิน +17.00 เมตร(รทก.)) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างบริเวณอ.ผักไห่อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยาด้วย

ในส่วนของการนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง เพื่อตัดยอดน้ำหลากนั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหมดแล้ว สามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้แล้วประมาณ 150 ล้าน ลบ.ม.(ความจุสูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ มีข้อตกลงว่าเกษตรจะเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย. 60 เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งจะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ต้องเห็นชอบร่วมกันให้เอาน้ำเข้าได้และจะต้องไม่กระทบต่อเส้นทางสัญจรหรือพื้นที่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม การนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง จะต้องทำการตัดยอดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ