กทม.ตรวจความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วม พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุนสูง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 5, 2017 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงตรวจความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือเขียวไข่กาว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจาก 3 น้ำ ประกอบด้วย น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ซึ่งสถานการณ์น้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 60 จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครมีปริมาณมากขึ้น

ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวจะมีปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม 6 รวมถึงปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพมหานครมีแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ มีความยาวประมาณ 86 กม. ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรแล้วเสร็จความยาวประมาณ 77 กม. ประกอบด้วย แนวป้องกันน้ำท่วมรอมแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 52 กม. เป็นแนวป้องกันฝั่งพระนคร ความยาวประมาณ 34 กม. แนวป้องกันฝั่งธน ความยาวประมาณ 18 กม. แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย ความยาวประมาณ 9.20 กม. แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 15.80 กม. ซึ่งสามารถป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ที่ระดับ +2.80 ม.รทก. ถึง +3.50 ม.รทก.

ส่วนอีกประมาณ 9 กม. ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้ โดยเป็นเขื่อนของเอกชนประมาณ 5 กม. ซึ่งในบริเวณนี้สำนักการระบายน้ำได้เสริมกระสอบทราย เนื่องจากความสูงของเขื่อนต่ำกว่า +3 ม.รทก. ส่วนที่เหลืออีก 4 กม. เป็นแนวรุกล้ำเข้ามาในคลองซึ่งเป็นแนวฟันหลอ สำนักการระบายน้ำได้ทำเขื่อนชั่วคราวโดยเสริมกระสอบทราย ซึ่งใช้กระสอบทรายประมาณ 3 แสนกว่ากระสอบ ความสูงประมาณ 2-2.5 ม.โดยจะสามารถป้องกันไม่ให้น้ำล้นเข้าไปพื้นที่ด้านใน

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งจากการสำรวจตั้งแต่ปี 50 มี 32 ชุมชน 1,971 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันปี 60 ลดลงเหลือ 441 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ฝั่งพระนคร 15 ชุมชน จำนวน 408 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี 3 ชุมชน จำนวน 33 ครัวเรือน ได้แก่ เขตบางซื่อ ชุมชนโรงเรียนวัดสร้อยทอง 3 ครัวเรือน เขตดุสิต ชุมชนสีคาม 14 ครัวเรือน ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ 46 ครัวเรือน ชุมชนปลายซอยมิตตาคาม 125 ครัวเรือน เขตพระนคร ชุมชนท่าวัง 9 ครัวเรือน ชุมชนท่าช้าง 15 ครัวเรือน ชุมชนท่าเตียน 28 ครัวเรือน เขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนวัดปทุมคงคา 12 ครัวเรือน ชุมชนตลาดน้อย 1 ครัวเรือน เขตบางคอแหลม ชุมชนหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 14 ครัวเรือน ชุมชนบริเวณสุดซอยมาตานุสรณ์ 31 ครัวเรือน ชุมชนวัดบางโคล่นอก 36 ครัวเรือน ชุมชนบริเวณหน้าวัดอินทร์บรรจง 13 ครัวเรือน เขตยานนาวา ชุมชนโรงสีถนนพระราม 3 60 ครัวเรือน เขตคลองเตย ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 1 ครัวเรือน เขตบางกอกน้อย ชุมชนดุสิตนิมิตใหม่ 16 ครัวเรือน เขตคลองสาน ชุมชนเจริญนครซอย 29/2 12 ครัวเรือน และเขตราษฎร์บูรณะ ชุมชนดาวคะนอง 5 ครัวเรือน ซึ่งบ้านที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา 441 ครัวเรือน จะได้รับผลกระทบจากน้ำหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า จากการคาดการณ์วันนี้ระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด +1.65 ม.รทก. ซึ่งระดับน้ำไม่เกิน +2 ม.รทก. จะไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน 441 หลัง นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำกำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด 8 สัญญา ความยาวโดยรวมประมาณ 1 กม. ส่วนสำนักการโยธาได้ลงพื้นที่พูดคุยเจรจากับประชาชนในชุมชนที่รุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 14 กม. คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถรื้อย้ายบ้านได้อีกประมาณ 200 หลังคาเรือน


แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ