กรมชลฯ นำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงตามแผน พร้อมคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2017 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีการนำน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ในวันนี้(27 ก.ย. 60) ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,832 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานทั้งสองของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสิ้น 505 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แยกเป็นฝั่งตะวันออก 198 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ฝั่งตะวันตก 307 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ นั้น ล่าสุด(27 ก.ย. 60) ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้มีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานคลองชัยนาท – ป่าสัก ก่อนจะนำน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ตามทุ่งต่างๆ ที่มีความพร้อม ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก นำน้ำเข้าไปในอัตรา 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทุ่งท่าวุ้ง นำน้ำเข้าไปในอัตรา 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทุ่งบางกุ่ม นำน้ำเข้าไปในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวม 2 วัน มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วรวม 3.44 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งแก้มลิงฝั่งตะวันตกนั้น กรมชลประทานได้มีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำ ก่อนจะนำน้ำบางส่วนเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ ดังนี้ ส่งน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งโพธิ์พระยา ในปริมาณ 1.10 ล้านลูกบาศก์เมตร(วานนี้ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ส่วนปริมาณน้ำที่รับผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุลงสู่แม่น้ำน้อย จะนำไปเก็บไว้ในทุ่งผักไห่ ในอัตรา 5.70 ล้านลูกบาศก์เมตร(วานนี้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร) และทุ่งป่าโมก ในอัตรา 0.90 ล้านลูกบาศก์เมตร(วานนี้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร) รวม 2 วัน มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วรวม 92.70 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายทองเปลว กล่าวว่า การดำเนินการเอาน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกัน ให้นำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตร และการประมง นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผงที่ยังคงประสบกับปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัย ซึ่งการนำน้ำเข้าไปในแต่ละทุ่งจะต้องควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ