ไทยพร้อมจัดการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลกประจำปี 60 ในวันที่ 5-7 พ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Saturday November 4, 2017 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จับมือสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) ประกาศศักยภาพไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก จัดประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO Congress 2017) ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO Congress 2017) เป็นงานประชุมด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะเสริมสร้างภาพลักษณ์และแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกภายในปี 2564 ตามนโยบายของรัฐบาล

“การประชุมครั้งนี้มีคนในวงการอัญมณีและเครื่องประดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 250 คน จึงจะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยได้พบปะสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีชื่อเสียงและนักลงทุนจากนานาชาติ อาทิ ผู้แทนจาก กลุ่มบริษัท De beers ผู้นำในธุรกิจการค้าเพชรระดับโลก CEO จากบริษัท Gemfields ผู้นำธุรกิจการค้าพลอยสี ตัวแทนจาก Vicenzaoro ผู้จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีเครื่องประดับและนาฬิกาชั้นนำของโลก รวมทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมระดับโลก เข้าร่วมงาน ซึ่งจะร่วมเปิดทางสู่การทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากประเทศไทยมากขึ้น ทำให้การค้าขยายตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ" นางอภิรดี กล่าว

งานประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO Congress 2017) เป็นการประชุมสามัญประจำปีของ CIBJO เพื่อแจ้งข้อสรุป แนวทางและการปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ให้สมาชิกใน 42 ประเทศทั่วโลกทราบ และยังเป็นเวทีในการนำเสนอปัญหา และร่วมกันหาข้อสรุป และแนวทางการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยจัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 (จัดขึ้นที่ประเทศไทย) จนถึงปัจจุบัน นอกจากวัตถุประสงค์หลักแล้ว การประชุมครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก รวมถึงยกระดับมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบ เพื่อภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทุกด้าน อาทิ พลอยสี เพชร ไข่มุก โลหะมีค่า ธรรมาภิบาลทางการค้า

“การประชุมหารือด้านอุปสรรค ปัญหา พร้อมแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของสมาชิกทั่วโลกขององค์กร CIBJO จะช่วยให้สามารถร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจการค้าของไทย สร้างงานและรายได้ให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่ และแรงงานในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 1 ล้านคน ทั้งคนคัดพลอย ช่างเจียระไน แรงงานทั่วไป รวมถึงยังสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจการออกแบบ นิตยสาร แฟชั่น นางอภิรดี กล่าวอธิบาย

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยในปี 2559 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (รวมทองคำ) ปี 2559 รวม 14,246.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (501,107.38 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 3.49 ของ GDP ของประเทศ ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ​(ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 10,662.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (364,020.73 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า กิจกรรมครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยในอนาคต หากมีการซื้อ-ขายอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ เนื่องจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าสำคัญของหลายจังหวัด เช่น อัญมณีเป็นแหล่งรายได้สำคัญของจังหวัดจันทบุรี ตราด กรุงเทพ กาญจนบุรี และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เครื่อง-ทองสร้างรายได้ให้กับจังหวัดสุโขทัยและเพชรบุรี เครื่องเงินสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และสุรินทร์ และเครื่องถม สร้างรายได้ให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

สำหรับการประชุม CIBJO Congress 2017 มีผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรด้านอัญมณีและเครื่องดับระดับโลกตอบรับเข้าร่วมงาน อาทิเช่น Dr. Gaetano Cavalieri ประธานสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) Mr. Sean Gilbertson ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท GEMFILEDS เจ้าของธุรกิจเหมืองพลอยสีที่ใหญ่ที่สุดของโลก Mr. Stephane Fischler ประธาน Antwerp World Diamond Center หรือ AWDC ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการดำเนินธุรกิจค้าเพชรและอัญมณีของเมือง Antwerp ประเทศเบลเยียม Mr. Corrado Facco กรรมการผู้จัดการกลุ่ม ITALIAN EXHIBITION GROUP องค์กรผู้จัดงานแสดงสินค้าในประเทศอิตาลี เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ