สภาพัฒน์ เผย Q1/61 การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัวดี แต่นอกภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะภาคก่อสร้าง หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Thursday May 31, 2018 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.61) การจ้างงานลดลง 0.2% โดยภาคนอกเกษตรลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว 2.8% ในสาขาก่อสร้าง ค้าปลีก/ค้าส่ง โรงแรมและภัตตาคารและสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า 11.8% 2.8% 1.3% และ 3.2%% ตามลำดับ

ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตทรงตัวเท่ากับไตรมาส 1/60 แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ไม่สะท้อนในภาพรวมของการจ้างงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และบริการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัว 6.0% จากไตรมาส 1/60 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% เท่ากับไตรมาส 1/60 เป็นผู้ว่างงานมีจำนวน 4.7 แสนคน ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยรวมในไตรมาส 1/61 เฉลี่ยเท่ากับ 42 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานเท่ากับ 44.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.4% และ 0.6% ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวนลดลง 7.5% รายได้แรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในภาพรวมเพิ่มขึ้น 2.3% จากไตรมาส 1/60 โดยภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดี 5.1% เป็นการขยายตัวจากภาคเกษตร 0.7% และนอกภาคเกษตรขยายตัวถึง 7.7%

"การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัวได้ดี แต่นอกภาคเกษตรลดลง อัตราการว่างงานทรงตัว รายได้และผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดี" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อไปยังมีประเด็นด้านแรงงานที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ ได้แก่ รายได้แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มผันผวน จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเฉลี่ย 2.2% 12.9% และ 6.0% ในไตรมาส 2-4 ปี 60 เป็น 12.3% ในไตรมาส 1/61 ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ได้แก่ ความช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว การให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้แก่ การให้สินเชื่อผู้ประกอบการเพื่อซื้อยางแห้งไปใช้ในการแปรรูปโดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานราชการ และงดการกรีดยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 นอกจากนั้น ยังได้ส่งเสริมระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเพาะปลูก รวมถึงการใช้การตลาดนำการผลิตในรูปแบบการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ โรงานแปรรูป และสนับสนุนการทำการเกษตรผสมผสาน

การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 308–330 บาท/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการตรวจสอบและติดตามให้สถานประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามการประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงการเฝ้าระวังผลกระทบจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 หลังการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น จากการตรวจแรงงานและการปฏิบัติไม่ถูกต้องเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ พบว่ามีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 188 แห่ง คิดเป็น 4.4% ของสถานประกอบกิจการที่ตรวจ โดยมีลูกจ้างที่ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1,327 คน คิดเป็น 1.0% ของลูกจ้างกิจการที่ตรวจ โดยนายจ้างที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 90 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาส 1/61 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 4 /60 เป็น 7.1% ในไตรมาสนี้ โดยสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10.6% ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อเกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.68% ในไตรมาส 4/60 เป็น 2.78% ในไตรมาสนี้ โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ พบว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันฟุตบอลมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้ ซึ่งทำให้เกิดนักพนันฟุตบอลหน้าใหม่จำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในฟุตบอลโลก 2014 มีนักพนันฟุตบอลหน้าใหม่ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบจากการพนันฟุตบอล


แท็ก สภาพัฒน์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ