ครม.เห็นชอบ"มหาวิทยาลัยอมตะ"ของไต้หวันเปิดหลักสูตร Master of Science in Engineering ในไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday June 19, 2018 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาเสนอให้ มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของไต้หวัน จัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย ตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีนโยบายบุคคลากรที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามาจัดตั้งสาขาในพื้นที่อีอีซี หรือหากไม่อยู่ในพื้นที่อีอีซีต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.)

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดให้มหาวิทยาลัยที่เข้ามาจัดตั้งนั้น จะต้องไม่แย่งลูกค้ากับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยจะต้องมุ่งไปสู่สาขาวิชาที่ประเทศไทยขาดแคลนหรือมุ่งไปสู่สาขาที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง S-Curve และ New S-Curve 10 อุตสาหกรรม ทั้งยังต้องจัดการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยต้นทางในต่างประเทศด้วย เพื่อรับประกันคุณภาพว่าสาขาที่มาตั้งในต่างประเทศมีมาตรฐาน และคุณภาพไม่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยต้นทางของตนเองในประเทศนั้นๆ

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว จะเน้นทางด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ และยานยนต์แห่งอนาคต โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการจัดอันดับจาก Quacquarelli Symonds (QS) 2017 ให้อยู่ในลำดับที่ 76 ของโลก และมีอันดับเฉพาะรายวิชาดังกล่าวอยู่ในลำดับที่ 23 ของโลก

"เพื่อตอบรับกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่จะต้องพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ใช้มาตรฐานเดียวกันกับไต้หวัน โดยจัดตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนิคม จ.ชลบุรี" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเป็นห่วงละเอียดอ่อนเกี่ยวกับจีนและไต้หวันจึงได้กำหนดข้อตกลงปลีกย่อยในบางประการ อาทิ ห้ามประดับธงชาติของไต้หวัน ไม่ประดับรูปภาพของอดีตผู้นำหรือนักการเมือง งดเว้นการระบุคำว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" รวมถึงการจัดกิจกรรมที่ต้องเป็นกิจกรรมทางการศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

"วันนี้ ครม.จึงเห็นชอบ เพราะถือว่าเป็นไปตามแผนงานตามยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี และสร้างคนของเราให้มีศักยภาพเพื่อรองรับการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ