"ฉัตรชัย"ไฟเขียวซื้อเรือคืนตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล 680 ลำวงเงิน 3 พันลบ.เริ่มระยะแรก ก.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Monday July 16, 2018 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบ "โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน" หรือ ซื้อเรือคืน ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2558

สำหรับเรือประมงที่จะเข้าโครงการนี้จะต้องเป็นเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง แจ้งจุดจอด ตรึงพังงา และจัดทำ UVI (อัตลักษณ์เรือ) จากกรมเจ้าท่าเรียบร้อยแล้ว และไม่มีคดีใด ๆ โดยจัดซื้อในราคาตามสภาพจริง แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 เรียบร้อยแล้ว จำนวน 680 ลำ ในกรอบวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็น 3 ระยะ ระยะแรกจะเริ่มจากเรือประมงขนาดเล็กและกลาง (10 – 60 ตันกรอส) จำนวน 409 ลำ วงเงินประมาณ 690 ล้านบาท เมื่อได้ดำเนินการระยะแรกเสร็จสิ้น ที่เหลืออีก 271 ลำ ซึ่งเป็นกลุ่มเรือขนาดใหญ่จะได้ดำเนินการต่อไป

"หลังจากที่ประชุมให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ซื้อเรือคืนระยะแรกดำเนินการได้ภายใน 30 กันยายน 2561 การซื้อเรือคืนครั้งนี้นอกจากเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณปลาเพื่อการประมงที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU อีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณชาวประมงทุกท่าน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันทำงานกับภาครัฐมาเป็นอย่างดีโดยตลอด" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้รับทราบผลการประชุมใหญ่คณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรป ที่รัฐสภาสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ตามที่ได้อนุมัติให้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมายกับสหภาพยุโรป พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงความก้าวหน้าการทำงานของประเทศไทย เนื่องจากคณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรป ถือเป็นกลไกนโยบายระดับสูงที่มีความสำคัญมาก

และเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐสภาสหภาพยุโรปมีความเข้าใจใน ความพยายามอย่างหนักของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายทุกมิติ ทั้งด้าน การประมงและแรงงานภาคประมง ซึ่งท่าทีอย่างเป็นทางการและได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เปิดเผย ผ่าน Website www.europarl.europa.eu นับเป็นท่าทีทางบวกต่อการทำงานของไทยครั้งสำคัญที่สุดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ