กรมอุตุฯ เตือนภาคเหนือแนวโน้มภัยแล้งรุนแรง จากการเกิด"เอลนีโญ่"รูปแบบใหม่

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2018 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยจากศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการแปรผันและการคาดหมายฝนกึ่งฤดูกาลบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การพยาการณ์ครอบคลุมช่วงเวลามากขึ้น หลังมีแนวโน้มฝนในปีนี้จะหมดลงเร็วขึ้นจากปกติการสิ้นสุดของฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม แม้ก่อนหน้านั้นประเทศไทยยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง บางพื้นที่ฝนตกน้ำท่วม แต่บางพื้นที่ฝนไม่ตก บ่งบอกถึงการผิดปกติของสภาพภูมิอากาศปรากฏให้เห็นชัดเจน

ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติและกลไกความผันแปรในช่วงกึ่งฤดูกาล ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน โดยหนึ่งฤดูกาลจะมีระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน แนวทางในการศึกษาวิจัย คือ การอธิบายกลไกของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและความผันแปรที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจนการศึกษาถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อปริมาณฝนในภูมิภาค ทั้งสภาวะฝนหนักและสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความรุนแรง จนเกิดเป็นภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มบ่อยครั้งมากขึ้น

นายชลัมภ์ กล่าวว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ มีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายบริเวณทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงเช่นกัน การรวบรวมข้อมูลทางสถิติของหน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่า ประเทศไทยมีสภาวะฝนรุนแรงมากประเทศหนึ่งของโลกเกิดขึ้นสองครั้งในเดือนกันยายนและอีกหนึ่งครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ปรากฏการณ์ธรรมชาติหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะฝนทั้งสองด้าน คืออย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ่เกิดขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรสูงขึ้นอย่างผิดปกติติดต่อกันยาวนานเป็นช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 5 เดือนติดต่อกัน)

ผลการศึกษาส่วนหนึ่งในงานวิจัยนี้ พบสัญญาณความผันแปรของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอิทธิพลทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่รูปแบบใหม่ ในลักษณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นผิดปกติตลอดแนวมหาสมุทร เกิดการยกตัวของอากาศตลอดแนวมหาสมุทรแปซิฟิก และเกิดการจมตัวของอากาศแห้งได้ไกลขึ้นถึงฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลต่อการยับยั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่กำลังพัดพาเอาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียในช่วงฤดูมรสุมเข้าสู่ประเทศไทย และมีผลสืบเนื่องคือการเกิดสภาวะความแห้งแล้งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะทางตอนบนของประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศอินเดียที่เกิดภัยแห้งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศมาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2009 และ 2014 ปรากฏการณ์เอลนีโญ่แบบนี้ถูกตั้งชื่อตามลักษณะการเกิดว่า "ปรากฏการณ์เอลนีโญ่เบซินไวด์วอร์มมิ่ง (Basin Wide Warm El Nino)"

จากข้อค้นพบสัญญาณความผันแปรนี้ บ่งชี้ว่าแนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่เบซินไวด์วอร์มมิ่ง มีโอกาสเกิดบ่อยครั้งขึ้น (สาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาวะความแห้งแล้งโดยเฉพาะทางตอนบนของประเทศ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ลักษณะของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันตกเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้กลไกการพัฒนาตัวของพายุหมุนเขตร้อนเกิดได้มากขึ้นและมีระดับความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในการศึกษากลไกและความผันแปรของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในโครงการนี้ ได้นิยามดัชนีชี้วัดความผันแปรทางสมุทรศาสตร์ตัวหนึ่ง เรียกว่า NINO 5 โดยใช้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกที่มีความผันแปรเป็นพื้นที่ศึกษา ที่จะช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่แบบต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มของการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ