กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน เติมน้ำในเขื่อนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำหลายพื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday September 26, 2018 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามพื้นที่ความต้องการขอรับบริการฝน พบว่าในหลายจังหวัดยังคงมีฝนตกไม่ทั่วถึงทำให้พื้นที่การเกษตรยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ซึ่งมีการร้องขอฝน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ตาก ลำปาง แพร่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ และจังหวัดสระแก้ว โดยมีชนิดของพืชที่ต้องการน้ำทางภาคเหนือ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิลง มันสำปะหลัง ส้มเขียวหวาน ภาคกลาง ได้แก่ อ้อย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย ภาคตะวันออก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง

สำหรับการปฏิบัติภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในช่วงนี้ยังคงเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอเป็นจำนวนมาก จึงต้องพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งจากเดิมกรมฝนหลวงฯ มีแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน - 31 ตุลาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 150 ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ในหลายพื้นที่ โดยจากพื้นที่เป้าหมายเดิม จำนวน 15 แห่ง เป็นจำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้นักวิทยาศาสตร์ นักบินฝนหลวง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงโดยได้นำเครื่องบินชนิด CASA จำนวน 4 ลำ มาประจำการเพิ่ม ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีช่วงจำนวนระยะเวลาการปฏิบัติน้อยประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน โอกาสที่จะปฏิบัติการสำเร็จตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการปฏิบัติภารกิจและติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างมากเพื่อดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในการช่วยเหลือเกษตรกรและพื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ