ส.ต่อต้านโลกร้อนจ่อยื่นฟ้องบอร์ด EEC ต่อศาลปกครองขอให้ระงับนิคมฯ ของนายทุนกลุ่มพลังงานแถบบางปะกง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 3, 2018 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงการณ์เตรียมยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 4 ต.ค.61 นี้ เวลา 10.30 น.เพื่อขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องระงับหรือเพิกถอนการดำเนินการโครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่รองรับการพัฒนา EEC ให้เป็นไปตามกฎหมาย

"เราต้องการให้ศาลสปกครองกลางสั่งระงับการดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่บนพื้นที่ประมาณ 3 พันไร่ในเขต อ.บางปะกงเพราะเวลานี้มีชาวบ้านประมาณ 50 ครัวเรือน ราว 200 คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกนายทุนด้านพลังงานไฟฟ้าขับไล่ที่ดินทำกินที่ใช้ปลูกข้าว ทำบ่อเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง"นายศรีสุวรรณ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านใน อ.บางปะกงที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายได้บุกศาลากลางยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรมร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กรณีถูกนายทุนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง เป็นจำนวนมากหลายพันไร่ ต่อมาได้ถูกรื้อถอนและขับไล่ชาวบ้านให้ออกไปจากที่ดินทำกินที่เคยเช่าอยู่เดิมเพื่อปรับพื้นที่เตรียมผุดเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่รองรับการพัฒนา EEC

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่ติดลำน้ำบางปะกงเลียบยาวตลอดแนวถนนสายมอเตอร์เวย์ (สาย 7) กรุงเทพฯ-พัทยา ด้านทิศใต้จนถึงพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยขณะนี้ได้เริ่มทำการปรับถมพื้นที่และขับไล่ให้ชาวบ้านที่เคยเช่าทำกินภาคเกษตรกรรมออกไปให้พ้นพื้นที่โดยที่ยังไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์กับชุมชนรอบด้านแต่อย่างใด และไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ละเมิดกฎหมายผังเมืองไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้พัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองใหม่ ซึ่งได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและขุดถมที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทำให้โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบทันทีต่อชุมชนดั้งเดิมทั้งผู้เช่าที่ดินทำนาและผู้มีโฉนดที่ดินข้างเคียง ละเมิด กฎหมายการเช่าที่นา ทั้งยังทำลายทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอีกด้วย

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เดินทางเข้าลงบันทึกแจ้งความไว้แล้วยังที่ สภ.บางปะกง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ รวมทั้งล่าสุดได้ไปร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทราแล้ว แต่ก็ไม่มีผลคืบหน้า กลุ่มนายทุนยังคงเดินหน้าปรับถมพื้นที่ต่อไป

แหล่งข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า นิคมฯ ดังกล่าวเป็นโครงการของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่ยื่นขอเข้าร่วมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 2,000 ไร่ รองรับการจัดตั้งโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มไบโอดีเซล แบตเตอรี่ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ