นายกฯ แนะประชาชนศึกษาปรัชญา"ปลูกป่า ปลูกคน"ของ"สมเด็จย่า" เป็นแนวทางแก้ปัญหาพื้นฐาน

ข่าวทั่วไป Saturday October 27, 2018 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า หลักปรัชญา "ปลูกป่า ปลูกคน" ของสมเด็จย่า จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่ผมได้กล่าวมานั้น หากเราศึกษาอย่างลึกซึ้ง แล้วจะเห็นความเชื่อมโยงกันของแนวทางแก้ปมปัญหาพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมของชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ยาเสพติด และความยากจน

การแก้ปัญหา "น้ำ" โดยดำเนินการ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรกลาง เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในภาพรวม ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงปากอ่าว (2) การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558 ถึง 2569) ถือเป็นแผนแม่บทด้านทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พัฒนาประปาหมู่บ้านเกือบ 7,300 หมู่บ้าน คงเหลือ 199 หมู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ ราว 1,500 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวม 2.53 ล้านไร่ และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ รวม 0.48 ล้านไร่เป็นต้น (3) การผ่านกฎหมายแม่บทด้านน้ำ หรือกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศไทย ก็คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการในการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟู และ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขน้ำท่วม น้ำแล้ง วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ อีกทั้งมีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ เพื่อจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำของชาติเป็นต้น

การแก้ปัญหายาเสพติด โดยใช้นโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และหลังจากที่ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดยรัฐบาลจะติดตาม ช่วยเหลือ และส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เสพได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา จะสามารถสมัครงานได้ โดยไม่เสียประวัติ ไม่โดนลงบันทึกอาชญากรรม สำหรับขั้นตอนการคืนคนดีสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือ "ศูนย์แคร์" ประจำเรือนจำ ทัณฑสถาน และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ขึ้น รวม 137 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อเป็นเสมือน "ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ"

สำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ เครือข่ายภาคสังคม บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ ฯลฯ เกี่ยวกับข้อมูลด้านการประกอบอาชีพ การให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และความต้องการรับจ้างแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภายนอกได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้มีงาน มีอาชีพสุจริต ส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดมีรายได้ ทั้งในขณะที่ต้องโทษ และอยู่ระหว่างที่ออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก สร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ได้มีโอกาสที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่ตกอยู่ในสภาวะ ล้มละลายทางสังคม

ทั้งนี้ สถิติผู้ลงทะเบียนเข้าใช้บริการศูนย์ CARE ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึง กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เกือบ 27,000 คน โดยขอข้อมูลแหล่งงาน 3,000 กว่าคน ได้รับการจ้างงานแล้วเกือบ 400 คน ได้รับคำปรึกษากว่า 14,000 คน และได้รับการสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ อีก กว่า 14,500 คน

และ การแก้ปัญหาความยากจนในระยะยั่งยืนด้วยการออม ได้แก่ (1) การออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งสนับสนุนให้คนไทยตั้งแต่อายุ 15 - 60 ปี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา อาชีพอิสระ ได้รู้จักการเก็บหอม รอมริบ ไม่ปล่อยให้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง หรือครอบครัวล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลในยามแก่ชรา รวมถึงเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ มีเงินรายเดือนไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี เพิ่มเติมจากเบี้ยคนชราที่จะได้รับอยู่แล้ว กล่าวคือแต่ละเดือนก็จะมีรายรับเข้ามาสองทาง เพื่อจับจ่ายใช้สอยที่จำเป็น โดยสามารถออมเงินกับ กอช. ได้ ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท และปีละไม่เกิน 13,200 บาท แล้วรัฐบาลก็จะเติมเงินให้อีก 50 - 100% ตามช่วงอายุ ตามตารางบนหน้าจอนะครับ ปัจจุบันการสมัครสมาชิก กอช. ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านแอพพลิเคชัน"กอช" ในสมาร์ทโฟน ทุกระบบใช้ข้อมูลพื้นฐานเพียงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลก็สนับสนุนให้ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ โดยรัฐบาลจะคืนเป็นเงินออมให้ 1% ทั้งนี้ ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถไปตรวจสอบสิทธิและสมัครได้ที่ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง หรือ สมัครผ่านแอพพลิเคชัน "กอช" ได้เช่นกัน

และ (2) การออมรูปแบบใหม่ คือ การปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตน นอกจากจะเป็นการเก็บออมแล้ว ยังถือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสร้างอาชีพที่มั่นคง ด้วยการปลูกไม้มีค่า ในลักษณะเกษตรผสมผสาน พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ป่า และเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ