กรมประมง หวังทุกฝ่ายร่วมเดินหน้าแก้ปัญหา IUU ต่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday January 17, 2019 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมประมงไทยภายหลังสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ประเทศไทยได้ใบเหลืองในการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ว่า การที่ประเทศไทยได้ใบเขียวครั้งนี้เหมือนเป็นการบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว และกำลังเดินหน้าไปสู่การประมงที่ยั่งยืน

"ยอมรับว่าการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาทำให้ชาวประมงเดือดร้อน ภาคอุตสาหกรรมเดือดร้อนบ้าง แต่เป็นความจำเป็น ... สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจทำมาตลอด 3-4 ปีเพื่อการประมงที่ยั่งยืนของไทยไม่ใช่แค่เพื่อปลดใบเหลือง" นายอดิศร กล่าว

สำหรับผลที่จากการปลดใบเหลืองไอยูยูในแง่เศรษฐกิจ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หวังว่าการที่ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาในปริมาณที่น้อยลงเพราะออกทำประมงตามฤดูกาลและได้ปลาที่มีคุณภาพมากขึ้น เมื่อเข้าไปสู่ภัตตาคารหรือการแปรรูปจะทำให้ได้ราคาดีขึ้น ส่วนประมงพาณิชย์ที่จับปลาได้ปริมาณเพิ่มขึ้นจากที่เคยจับได้น้อยทำให้ส่งไปขายได้มากขึ้น ซึ่งก็หวังว่าปลาที่เรือประมงพาณิชย์จับราคาจะอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ เพราะปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีของอาหารสำหรับคนไทย

นอกจากนี้ ผลจากการได้รับการปลดใบเหลือง ทำให้หลายประเทศเริ่มติดต่อให้ไทยเข้าไปทำประมงนอกน่านน้ำ เช่น ปาปัวนิวกินี พม่า

"ตอนที่ติดใบเหลืองแทบไม่มีประเทศไหนให้เราเข้าไปทำประมงเลย แต่ตอนนี้เริ่มมีการติดต่อมา เช่น ปาปัวนิวกินี เรือประมงไทยเคยเข้าไปทำการประมงนอกน่านน้ำเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้วที่ผ่านมาก็หยุดไป ตอนนี้ก็มีการติดต่อพูดคุยว่าจะให้เราเข้าไป พม่าก็จะให้เราเข้าไป แสดงให้เห็นภาพที่ดีขึ้นในเชิงเครดิตของประเทศ"

นายอดิศร กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือที่ดีผู้นำเข้าในต่างประเทศก็จะสั่งสินค้าประมงของไทยมากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย แต่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางราคาสินค้าประมงได้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย

"ทิศทางราคาสินค้าประมงคงไม่สามารถคาดเดาได้ในขณะนี้ว่าปลดใบเหลืองแล้วจะปรับตัวขึ้นในทันทีหรือไม่ คงต้องใช้ระยะเวลา"

ส่วนเรื่องการจัดตั้งกองทุนพัฒนาประมงเพื่อดูแล พัฒนา ช่วยเหลือชดเชยเยียวยาชาวประมงทุกภาคส่วนทั้งพื้นบ้าน พาณิชย์ นอกน่านน้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ถ้ามีกองทุนนี้จะเพิ่มความคล่องตัวในการช่วยเหลือ สนับสนุนการประมงในเรื่องต่างๆ ขณะนี้กำลังร่างรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเพราะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อนจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้

นายอดิศร กล่าวต่อถึงแนวทางที่จะดำเนินต่อไปหลังจากนี้ว่า คงทำต่อเนื่องจากที่เราทำมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หากกฎหมายออกมาถ้าไม่ดีก็แก้ไข แต่ทั้งหมดเพื่อการประมงที่ยั่งยืนต้องมีเหตุมีผล เครื่องมือที่ผิดกฎหมายต้องไม่ใช้ เครื่องมือใหม่ๆ ก็ต้องวิเคราะห์ความจำเป็นที่จะนำมาใช้ วันทำการประมงที่ผ่านมาถูกควบคุมเพราะปลาน้อย แต่หลังจากปลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็เพิ่มวันให้ ปีที่ผ่านมาเราเพิ่มวันทำประมงให้ เช่น การออกใบอนุญาตให้เรือประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทยเมื่อปี 2559 ตอนนั้นให้เวลาทำประมงครั้งแรก 220 หรือ 225 วัน แต่การออกใบอนุญาตครั้งที่ 2 เมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่มเวลาให้เป็น 240 วัน เป็นต้น

"สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเทศไทยก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่มีอยู่ แต่ผมเชื่อว่าชาวประมงมีความมั่นใจในอนาคตแล้ว คิดว่าเราน่าจะเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีต่อไปข้างหน้า ขอให้ชาวประมงกับเราร่วมกันทำงานต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอนาคตมีความเป็นห่วงว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะกลับมา หากทุกฝ่ายไม่มีการร่วมกันทำงานต่อหรือหากมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ