นายกฯ ตรวจงานสถานีกลางบางซื่อ โครงการรถไฟสายสีแดง หวังดันไทยเป็นฮับการขนส่งในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 20, 2019 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการก่อสร้าง สถานีกลางบางซื่อตามโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลาง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนให้ได้มากที่สุด และสถานีกลางบางซื่อจะเป็นจุดศูนย์รวมขนาดใหญ่ ที่จะเชื่อมต่อกับทุกภูมิภาคในอนาคต และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะ 3 สวน ถือเป็นสร้างปอดให้คนกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงของการรถไฟไทย และกำชับให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงประชาชนให้รับทราบถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะกว่า 800 ไร่

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าโครงการว่า คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพ.ย. 62 จากนั้น รฟท. จะดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า ทดสอบการเดินรถ ในช่วงเดือนธ.ค. 63 และพร้อมเปิดให้บริการพร้อมระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ในเดือนม.ค.64

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ได้ออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ และยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1 ชั้นที่ 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT

ส่วนชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. คาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2564 โดยที่ชั้น1 และชั้น 2 มีชั้นลอยซึ่งเป็นร้านค้าและห้องควบคุมมีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม.

ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย

สำหรับรถไฟที่จะนำมาให้บริการ เป็นของ Hitachi ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดในการให้บริการ อยู่ที่ 120 กม./ชม. ใช้ขนาดทาง 1,000 มม. มีขบวนรถไฟ 2 แบบ คือ 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,710 คน และ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,120 คน และใช้ระบบอาณัติสัญญาณรูปแบบ European Train Control System (ETCS) Level 1

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการสถานีที่ รฟท. ได้เตรียมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา งานซ่อมบำรุงตัวรถ อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ

ส่วนงานด้านซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ สำหรับเชิงพาณิชย์ รฟท. ได้ดำเนินการในสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ส่วนสถานีอื่นๆ อยู่ระหว่าง รอคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 300,000 คน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟ ชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งทางรางอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและลดการเกิดอุบัติเหตุ บริเวณจุดตัดกับถนน รวมถึงการใช้เชื้อเพลิง ประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ