นายกฯ ห่วงปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำฝนตกน้อยลง ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 9, 2019 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยสิ่งที่เป็นกังวล คือ ปัญหาปริมาณน้ำที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลทำให้ฤดูฝนสั้นลง และปริมาณฝนตกน้อยลง ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมเรื่องของปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และหลายแห่งมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำประปา จึงได้สั่งการให้ขุดบ่อน้ำบาดาลเพิ่มเติม และเพิ่มการขนย้ายน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่

โดยวันนี้ ครม.รับทราบการประกาศพื้นที่ภัยแล้งใน 2 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวม 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ตราด และชลบุรี

นอกจากนี้ เรื่องน้ำเพื่อการเกษตร พบว่าพื้นที่ชลประทานกว่า 10 เขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยลง ขณะเดียวกันภาคเกษตรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็มีมาตรการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีการปลูกจนเกิน 100% ไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นผลจากราคาข้าวดีขึ้น เกษตรกรจึงเร่งปลูกโดยไม่ได้คิดว่าจะหาน้ำมาจากไหน จึงต้องสร้างความเข้าใจกันเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน พร้อมขอร้องว่าการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม และไม่มีฝน จะทำให้ในปีหน้าเกิดปัญหาลำบากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องรับฟังรัฐบาลบ้าง

"ช่วงนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง พื้นที่น้ำน้อย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง ถ้าฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าปล่อยน้ำหมด วันข้างหน้าจะทำให้เดือดร้อน ต้องมีมาตรการปล่อยน้ำอย่างสมดุล"นายกรัฐมนตรีระบุ

ส่วนปัญหาฝุ่นละออง ขณะนี้ได้รับรายงานว่า สถานการณ์ปรับดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากที่มีจุดเผาไหม้เป็นจำนวนมาก สามารถลดลงได้กว่า 2,000 จุด และปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยจากภายนอกประเทศด้วย ซึ่งได้มีการประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาวและเมียนมาให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้ช่องทางความร่วมมือทั้งทางทหารและทางราชการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณประชาชนทุกจังหวัดทางภาคเหนือที่ให้ความร่วมมือและช่วยกันแก้ปัญหา พร้อมเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีความปลอดภัย ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ออกปฏิบัติงานในทุกวัน เพื่อช่วยลดปัญหาคลี่คลายสถานการณ์ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต้องได้รับร่วมมือจากทุกภาคส่วน และช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่รัฐบาลก็ดำเนินมาตรการต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ