ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง"สรยุทธ"กับพวกคดีปลอม-ใช้เอกสารสิทธิปลอม เหตุฟ้องซ้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday September 5, 2019 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.1748/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการ, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกร, น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้มฯ และ นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือ นางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท (MCOT) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมเพื่อปกปิดกระทำความผิดของตนอันเป็นการทำให้เกิดความเสียหายและร่วมกันฉ้อโกง

โดยศาลฏีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าให้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าคดีที่อัยการโจทก์ฟ้องศาลในคดีปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น มีเจตนามุ่งหมายแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารเพื่อปกปิดความผิดของจำเลยทั้งสี่ที่ได้ร่วมกันไม่แจ้งข้อมูลที่เป็นการโฆษณาที่เกินเวลา ที่จำเลยที่ 4 ได้รับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1-3 อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดของเจ้าพนักงานในองค์กรรัฐฯ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้นที่อัยการโจทก์ฟ้องในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.59 โดยสรุปได้ว่าประมาณกลางเดือน ก.ค.49 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเอกสารใบคิวโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าวระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.49 จำนวน 139 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้นไปใช้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บมจ.อสมท เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการโฆษณา และคิดค่าโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ บมจ.อสมท หลงเชื่อว่าเอกสารใบคิวโฆษณานั้นเป็นเอกสารจริง ทำให้บริษัท ไร่ส้มฯ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าโฆษณา หรือเสียค่าโฆษณาส่วนเกินน้อยกว่าความเป็นจริง การกระทำดังกล่าวทำให้ บมจ.อสมท ได้รับความเสียหาย

ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในคดีนี้เป็นความผิดตามที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.313/2558 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแล้ว กรณีดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องซ้ำ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.595/2559 ของศาลนี้แล้ว สิทธิการนำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4 ) โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้อีก ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยอ้างว่าไม่ใช่การฟ้องซ้ำกับคดีที่ได้มีคำพิพากษาไปแล้ว แต่เป็นการกระทำผิดแยกอีกกรรมหนึ่งที่จำเลยได้ใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความการรายงานโฆษณาส่วนเกินในเอกสารเพื่อทำให้จำเลยทั้งสี่ได้รับประโยชน์จากการใช้เอกสารนั้นยื่นกับ บมจ.อสมท ผู้เสียหาย

สำหรับคดีนี้เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วถือเป็นที่สุด คงเหลือแต่คดีที่จำเลยทั้งสี่ถูกยื่นฟ้องความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดของเจ้าพนักงานในองค์กรรัฐฯ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก นางพิชชาภา อดีตพนักงานเจ้าหน้าที่ บมจ.อสมท เป็นเวลา 20 ปี ส่วนนายสรยุทธ์และน.ส.มณฑา พนักงานบริษัท ไร่ส้มฯ ให้จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนบริษัท ไร่ส้มฯ ให้ปรับ 8 แสนบาท ซึ่งทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างฎีกาคนละ 5 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ