ครม.รับทราบสภาพัฒน์รายงานการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยที่เชื่อมโยงหลายมิติ ระยะที่ 2-3

ข่าวทั่วไป Tuesday September 24, 2019 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานความก้าวหน้าในการจัดทำรายงานการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)

ในระยะที่ 1 (เริ่มจัดทำกลางปี 2560) ได้มีการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองและการปกครอง และทาง สศช.ได้รายงานต่อ ครม.แล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค.61 โดยมีประเด็นสำคัญคือ การประเมินสถานการณ์ควรวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก จีน และประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนการวิเคราะห์การคาดการณ์และประมาณการเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย ควรวิเคราะห์การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตร และวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณและแผนการใช้จ่ายในอนาคต

ส่วนระยะที่ 2 (เม.ย.2561) รายงานทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยฯ ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ

1.แนวทางและโอกาสการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่: การปลดข้อจำกัดและยกระดับศักยภาพของภูมิภาค ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนากระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ในขณะที่เมืองที่อยู่โดยรอบถูกดึงทรัพยากรเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในเมืองใหญ่แต่กลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมืองใหญ่ค่อนข้างน้อย

การแก้ปัญหาจึงต้องใช้นโยบายบูรณาการระดับภูมิภาค เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลัก-เมืองรอง, สร้างระบบการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและแรงงานนอกระบบ, เพิ่มบทบาทสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่น ใช้ศูนย์ความเป็นเลิศที่มีในพื้นที่ต่างๆ เพื่อการยกระดับนวัตกรรมและสร้างแรงดึงดูดให้กับภูมิภาค พื้นที่ และท้องถิ่น

2.โอกาสและรูปแบบในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ

  • การสร้างความตระหนักถึงความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสร้างความเข้าใจถึงเรื่องความมั่นคงด้านน้ำที่ตรงกัน
  • การพัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการหารือเชิงนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
  • การส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และสังคมอย่างจริงจัง

3.การบูรณาการภาครัฐเพื่อการพัฒนา ระบบการบริหารงานภาครัฐต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น และไปเน้นเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การให้อำนาจ อปท.ในการดูแลผู้สูงอายุ การยกระดับศักยภาพในการบริหารเชิงพื้นที่ของ อปท.จะช่วยให้เมืองและจังหวัดสามารถเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ

ระยะที่ 3 (ก.ย.2561) ประกอบด้วย 2 ประเด็น

1.การพัฒนาศักยภาพในภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีระดับการพัฒนาที่ล่าช้าและมีความเหลื่อมล้ำสูง บางพื้นที่มีการพัฒนาภาคการผลิต โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว แต่ในบางพื้นที่ยังคงพึ่งพากิจกรรมในชนบทที่มีผลิตภาพต่ำ

แนวทางในการพัฒนาภูมิภาคคือ การกำหนดนวัตกรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมและให้ความรู้ผู้ประกอบการ, มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สู่การปฏิบัติได้จริง, ให้ อปท.จัดเก็บรายได้เองมากขึ้น โดยเฉพาะภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยกระดับการจัดการการคลังท้องถิ่น

2.การยกระดับการบริหารจัดการความมั่นคงด้านทรัพยการน้ำในภาคเหนือ โดยให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำปิง ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น จะได้ลดความซ้ำซ้อนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด, การจัดลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาค, การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ ยังรวมถึงการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสบการณ์ของคนในพื้นที่เข้ามาแก้ปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ