คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รณรงค์ให้งานประเพณีทุกเทศกาลเป็นงาน "ปลอดเหล้า" ลดความสูญเสีย

ข่าวทั่วไป Friday September 27, 2019 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2562 โดยมีนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการพิจารณามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษา และช่วงปีใหม่ 2563 และมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายอนุทิน กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอันตรายต่อร่างกายแน่นอน จากการทำเคสรับส่งหัวใจ ผู้บริจาคหัวใจ ล้วนประสบอุบัติเหตุอันเกิดจากเครื่องดื่มมึนเมาเช่นนี้แล้ว ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย่อมสนับสนุนไม่ได้

ล่าสุด ทราบมาว่ามีปัญหาในเรื่องของแบรนด์เสมือน หรือแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกไลน์ผลิตน้ำดื่ม โซดา เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังผลประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน่าจะได้ผล เพราะตามข้อมูลคือใช้งบ PR น้ำดื่มเป็นหลัก 10 ล้าน แต่ขายน้ำดื่มจริงๆ ได้ไม่กี่ขวด กลับกันยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีขึ้นเรื่อยๆ

"ตรงนี้ต้องมีการหารือ โดยเฉพาะเมื่อทางพรรคภูมิใจไทยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ จะขอความร่วมมือกับท่านให้ดูในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้คนหลงผิด กรณีของการดื่มเหล้าจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นข่าวดัง มันต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนบริโภคแอลกอฮอล์น้อยลง ภาครัฐก็ทำมาโดยตลอด สังคมเองต้องรับทราบว่า เหล้า เบียร์มีอันตรายอย่างไร ยิ่งดื่มมากยิ่งอันตราย ขนาดก๊วยเตี๋ยว รับประทานไปหลายๆ ชาม ยังมีผลกระทบ นับประสาอะไรกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" นายอนุทินระบุ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากถึง 43.66% (ข้อมูลจากการดื่มแล้วขับปี 2562 อุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 คน) และพบว่าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษามีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง คณะกรรมการ ฯ จึงมีแนวคิดที่จะรณรงค์ให้งานบุญประเพณีที่จะเกิดต่อเนื่องหลังจากออกพรรษา เช่น งานกฐิน ลอยกระทง ปีใหม่ เป็นงานที่ "ปลอดเหล้า"

ซึ่งนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สุขภาพแข็งแรง" ของแต่ละครอบครัวได้ สร้างโอกาสในการไม่ดื่มเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่สามารถ "งดเหล้า ครบพรรษา" ไปสู่การ "งดเหล้า ตลอดชีวิต" รวมทั้งเข้มมาตรการ "จัดโปร จับโชว์" บังคับใช้กฎหมายเรื่องการจำหน่ายโดยวิธี ลด แลก แจกแถม เพื่อลดการเข้าถึงที่ง่ายเกินไป และรณรงค์ให้ส่วนราชการจัดงานรื่นเริงโดยปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ได้จัดทำมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อส่งเข้ารับการบำบัดรักษาตามระบบในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรับการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา โดยมีกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สนับสนุนด้านวิชาการ และการบริหารจัดการตามมาตรฐาน Service plan สาขายาและสารเสพติด เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มสุรา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ