ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเผยพบ Fake news เรื่องสุขภาพมากสุด,ดีอีเอสเล็งจัดเครื่องมือช่วยทำงานเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Thursday November 21, 2019 18:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากการมอนิเตอร์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ย.62 มีจำนวนข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 482,077 ข้อความ เป็นข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด จำนวน 353,325 ข้อความ

ในจำนวนนี้มีข้อความที่ต้องดำเนินการ Verify ทั้งหมดขณะนี้จำนวน 5,181 ข้อความ แบ่งเป็น ช่องทาง Social Listening Tool ช่องทาง Line Official ช่องทาง Social Listening โดยมาจากการแจ้งเรื่องเข้ามาด้วย โดยแบ่งเป็นเรื่องสุขภาพ 63.2% ภัยพิบัติ 0.8% เศรษฐกิจ 14.2% นโยบายรัฐบาล 21.8%

ในวันนี้กระทรวงดิจิทัลฯ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันในกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกัน และบทบาทของผู้ประสานศูนย์ฯ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องตรวจสอบแล้ว โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมพิจารณาจัดทำเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ web application เว็บไซต์ Anti-Fake News Center มีการทำงานในลักษณะ Online และ Offline เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network หรือ IFCN

วิธีการแจ้งจะแบ่งหมวดการแจ้งตาม 4 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1. ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้) 2. ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร/หุ้น 3. ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น และ 4. ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ ความสงบเรียบร้อยของสังคม/ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมา ประชาชนจะสามารถตรวจเช็คข่าวปลอมได้ทันที

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทุกคนในศูนย์ฯ เป็นเครือข่ายที่จะขับเคลื่อนในการสร้างกลไกการกำจัดข่าวปลอม และมีคำตอบที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยจะร่วมเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม คัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของท่าน ตลอดจนเป็นผู้ที่จะช่วยเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และช่วยดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของท่านได้ และสุดท้ายจะช่วยกันเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องได้ พร้อมทั้ง ชี้แจงเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ จะมีการดำเนินงานร่วมกับภาคประชารัฐ (หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคม เครือข่ายต่าง ๆ และภาคประชาชน) สามารถตรวจสอบ สอบถาม และร่วมมือในแก้ไขการเผยแพร่ข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ