นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เตือนต้อง"เด็ดขาด"จัดการแหล่งกำเนิดมลพิษปราบวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5

ข่าวทั่วไป Wednesday January 15, 2020 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงอากาศเย็นราวเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี คือ ลักษณะการผกผัน (Inversion) ของอุณหภูมิหรือความดันบรรยากาศที่แตกต่างกันตามระดับความสูงเหนือพื้นดิน

หรือพูดง่ายๆ คือ อากาศกลางวันร้อนและจะลอยตัวสูงขึ้น แต่เมื่อเกิดสภาพ Inversion อากาศจะไม่สามารถลอยตัวสูงขึ้นได้ตามปกติ ทำให้ปริมาณฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายและเกิดการสะสมในระดับพื้นดิน สภาพ Inversion นี้เกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลกเช่นกัน

ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยไม่เพิ่มและช่วยกันลดปริมาณฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

กรมควบคุมมลพิษ ระบุ การดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่วิกฤติ โดยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีขั้นตอน/การปฏิบัติงานที่ชัดเจนในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่นละอองด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอบคุณทุกหน่วยงานที่จะร่วมกันนำแผนปฏิบัติการฯ สู่การปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งชาติตามบทบาทของหน่วยงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ทั้งนี้ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทย มีสาเหตุหรือแหล่งที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งจากภาคการจราจรขนส่ง และ อุตสาหกรรม การเผาขยะ เศษใบไม้ หรือเผาเศษวัสดุทางการเกษตร

ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า PM2.5 มีองค์ประกอบของสารพิษหลายๆ อย่าง เป็นฝุ่นที่มีองค์ประกอบมากมายก่ายกอง เกิดจากการเผาทุกอย่างจะกลายเป็นก๊าซแล้วกลับมารวมตัวกันเป็นอนุภาคแขวนลอย ที่แน่ๆ มี Polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนโลหะหนัก จะมีเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิด

สารพวกนี้ก็เกาะกับ PM10 ก็ได้ แต่มักจะอยู่ในฝุ่นเล็กๆ มากกว่า เพราะเวลาเกิดการเผา ถ้าเผาหมดจริงๆ จะกลายเป็นก๊าซ กระทั่งโลหะหนักก็กลายเป็นก๊าซได้ ซึ่งก๊าซกับควันไม่เหมือนกัน เมื่อเผาแล้วจะมีส่วนที่เป็นควันมักจะเป็น PM10 และส่วนที่เป็นก๊าซที่จะกลับมาควบแน่น (Condense) กันกลายเป็นฝุ่นเล็กๆ หรือกลายเป็น PM2.5 อย่างโรงโม่ ส่วนใหญ่จะเป็น PM10 แต่ถ้าเผาขยะเกิดการเผาจนสลาย ก็สร้าง PM2.5 ขึ้นมา เขาเรียกว่า Nucleation

จุดอ่อนของไทยในการแก้ปัญหาตอนนี้ก็คือ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ และไม่เคยประเมินแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเป็นระบบ เป็นปัญหาที่สะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เพียงแต่ปัญหาฝุ่นคือ มีการปลดปล่อยตลอดเวลาทุกฤดูกาล เพียงแต่ในช่วงมกราคม-มีนาคม ของทุกปีมักเป็นช่วงที่อากาศปิด แทนที่มลพิษจะฟุ้งขึ้นไปในท้องฟ้า กลับถูกกักอยู่ในบริเวณอากาศด้านล่าง ซึ่งมนุษย์รับสัมผัสอยู่ ทำให้ได้เห็นผลกระทบนี้ชัดๆ คือจะรู้สึกมากกว่าช่วงเวลาอื่น อีกปัจจัยหนึ่งคือการเผาทางการเกษตร เรียกว่าปัจจัยทั้งหลายประดังเข้ามา ทำให้ช่วงนี้เห็นผลกระทบได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ของปี

สาเหตุของสถานการณ์ฝุ่นมีอยู่หลายปัจจัย คือ ฝุ่นที่กำเนิดขึ้นเอง, ฝุ่นจากแหล่งกำเนิด และสภาพอากาศกด (Inversion) ปัจจัยเหล่านี้ผสมผสานกันอยู่เสมอๆ ซึ่งในส่วนของ Inversion มันเกิดขึ้นทุกวันเพียงแต่บางวันไม่กดมาก แต่หน้าหนาวจะกดขึ้นมากหน่อย ซึ่ง Inversion สามารถทำนายล่วงหน้าได้วันต่อวันว่าเพดานของวันพรุ่งนี้จะอยู่ที่เท่าไหร่

ขณะที่แหล่งกำเนิดมีหลายที่มา ทั้งจากประเทศเราเองที่อย่างไรก็ปล่อยคือ โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ และการเผาทางการเกษตรรวมถึงการเผาเพื่อคลายหนาว ซึ่งแหล่งกำเนิดบ้านเราต้องคุมด้วยกลไกในบ้านเรา ขณะที่แหล่งกำเนิดฝุ่นจากเพื่อนบ้าน ก็ต้องคุมด้วยกลไกระหว่างประเทศ การศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าหงสาในประเทศลาวที่อาจพัดสารปรอทมากับ PM10 และ PM2.5 เข้ามาตกในฝั่งจังหวัดน่าน ประเทศไทย ฝุ่น PM2.5 เคลื่อนที่อยู่ในอากาศได้ 1 ล้านเมตร หรือเท่ากับ 10,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นการเดินทางข้ามประเทศมันยิ่งกว่าเป็นไปได้

*แนะเร่งจัดลำดับการจัดการต้นตอปัญหาแบบง่ายสุด

"ถ้าจัดลำดับการควบคุมสถานการณ์ ปัจจัยที่คุมได้ง่ายสุด คือคุมการปลดปล่อยจากโรงงาน เพราะปล่องควันอยู่กับที่ และมีเวลาทำงาน กำลังผลิตเท่าไหร่ กี่ตันต่อวัน ปล่อยเท่าไหร่เราก็รู้ เรารู้ด้วยซ้ำว่าควรจะอนุมัติให้มีโรงงานเท่าไหร่และปล่อยควันเท่าไหร่เพื่อไม่ให้ Inversion เกิด ต่างประเทศเขาทำกันแต่บ้านเราไม่เคยทำ และอนุมัติเกิดโรงงานไปเรื่อยๆ และเวลาวัดค่าฝุ่นก็ไปวัดรวมและเอาไปเทียบกับมาตรฐานฝุ่นรวม ซึ่งทำไม่ได้ มันต้องวัดฝุ่น 2.5 และเอาไปเทียบกับมาตรฐานฝุ่น 2.5 นี่คือความบกพร่องของสิ่งที่จัดการได้ง่ายที่สุด แต่เราไม่จัดการ แต่ถ้าจะเริ่มใหม่วันนี้ก็ได้ คำนวณออกมาเลยว่าแต่ละโรงงานปลดปล่อยได้เท่าไหร่ แหล่งง่ายที่สุดเราไม่ยอมจัดการ แต่พอมันเกิดวิกฤตขึ้นมาแบบนี้ ก็บอกไม่ได้ว่าใครปล่อยออกมาเท่าไร และใครต้องหยุดทำอะไร

รถยนต์ คุมง่ายคุมยากเป็นอันดับ 2 เพราะการจราจรหนาแน่นการเคลื่อนที่ในแต่ละพื้นที่ แต่ละวันไม่เท่ากัน แล้วยังจะรถเก่ารถใหม่อีก แต่ก็สามารถจัดการได้ เช่นช่วงนี้อากาศกดก็ประกาศจัดระเบียบวันคู่วันคี่ หรือจะมีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐให้ติดตามตัวกรองฝุ่นของเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่า

ประเทศไทยไม่เคยทำฐานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ ขาดการวางแผนการประเมินมลพิษสะสมและศักยภาพของธรรมชาติในการรองรับมลพิษในไทย ไม่มีกฎหมายควบคุมฝุ่น PM2.5 ที่ดีพอ การพ่นน้ำ แจกหน้ากาก ตรวจจับควันดำเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นแค่ความพยายามเอาตัวรอดเท่านั้น ต้องแก้ด้วยการป้องกันระยะยาว และเป็นระบบ" ผศ.ธนพล กล่าว

*วอนทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบชักช้าอาจจมฝุ่นพิษตลอดไป

ผศ.ธนพล กล่าวต่อว่า มีบทเรียนประเทศต่างๆ เผชิญปัญหาฝุ่นมาก่อน แต่ก็สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน ที่สหรัฐฯ หลังเกิดหมอกควันได้ใช้หลักจัดการพื้นที่ที่ไม่สามารถให้อากาศที่ดีแก่ประชาชนนั้น ก่อนอนุมัติโครงการใดๆ ใน EIA และ EHIA ต้องมีแนวทางป้องกัน คำนึงถึงมลพิษจากแหล่งกำเนิด ช่วยป้องกัน PM2.5 ตั้งแต่ขั้นอนุญาตโครงการ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้ามีโครงการคอนโดมิเนียมมากมาย ซึ่งอาคารสูงทำให้การระบายมลพิษได้ยาก

"เรียกร้องให้ประเทศไทยใช้มาตรการเชิงรุกมากกว่าขอความร่วมมือ ต้องผลักดันกฎหมายบังคับใช้ ทั้งปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ลดการเจ็บป่วย มีกฎหมายค่ามาตรฐานปลดปล่อย PM2.5 จากปลายปล่องโรงงานและรถยนต์ เร่งทำทำเนียบการปล่อย PM2.5 หากเกินค่ามาตรฐานจะสามารถจัดการได้ถูกจุด เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน

แต่ตอนนี้ทุกภาคส่วนขาดความรับผิดชอบ (Accountability) ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดันกฎหมาย ออกแบบอนาคตของประเทศ ต้องศึกษาพฤติกรรมมนุษย์แล้วใช้กลไกในการจัดการแก้ปัญหาแบบเด็ดขาด รัฐบาล เจ้าหน้าที่อย่าลอยตัว ต้องเอาจริงกว่านี้ ไม่งั้นประเทศไทยจะจมพิษ จมฝุ่นที่เกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบประเทศ ถ้ายังไม่รีบจัดการ มีโอกาสที่เราจะต้องเผชิญสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ไปตลอดชีวิต ประชาชนจะช่วยได้คือตื่นตัวและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง" ผศ.ธนพล กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ