COVID-19ครม.นัดพิเศษอนุมัติหลักการบรรจุพนง.-ลูกจ้างสธ.เป็นข้าราชการ 45,684 ตำแหน่ง สร้างขวัญและกำลังใจ

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2020 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษอนุมัติในหลักการการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมจากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

โดยบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นบุคลากรวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ประเทศควรจะต้องรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืนด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ของกลไกราชการ บุคลากรเหล่านี้มีสภาพเป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ ซึ่งกระทรวงฯ ใช้เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลมาว่าจ้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อมีข้อเสนอที่ดีกว่าจากภาคส่วนอื่นๆ ก็จะออกไปทำงานในที่ที่มีรายได้มากกว่า ทั้งๆ ที่ต้นทุนในการฝึกฝนทักษะรัฐได้เป็นผู้ลงทุนไว้

เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ได้เห็นการทุ่มเท เสียสละ และความมุ่งมั่นของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ที่เข้าไปต่อสู้รักษาป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อคนในชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าโรคโควิด-19 นอกจากจะคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากแล้วยังเป็นโรคที่คร่าชีวิต แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขมากที่สุดด้วย

"การปรับสถานะให้พวกเขาได้มีความมั่นคงในอาชีพการงาน จะทำให้คุณภาพของงานบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่ค้างคามานาน ต้องใช้อำนาจทางการบริหารเท่านั้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้ บุคลากรเหล่านั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางเป็นสายอาชีพ ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยคนสายอื่นหรือเครื่องจักรได้ ที่นำเสนอมานี้ไม่ใช่เป็นการมาขออัตราเพิ่ม แต่เป็นการทำให้ระบบมีความสมบูรณ์ ทุกวันนี้เราใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลจ้างก็เหมือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ ต่อให้ปรับสถานะของเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีรายได้มากเท่ากับการไปทำงานในภาคเอกชน แต่อย่างน้อยคำว่า "ข้าราชการ" ก็จะทำให้เขามีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของพวกเขา สามารถทดแทนทางเลือกที่จะไปทำงานในภาคส่วนอื่น เนื่องจากมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

สิ่งที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่นี้เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบการสาธารณสุขของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม เมื่อเราผ่านพ้นโควิด-19 นี้ไปได้ เราจะมีบุคลากรสาธารณสุขที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ความพร้อม และศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดเรากำลังสร้างฐานที่มีความมั่นคงทางการสาธารณสุข ที่พร้อมให้การดูแลสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากโควิด-19 คนเหล่านี้จะมีผู้ดูแล รักษา ป้องกันโรค เพื่อประเทศไทยจะได้มีสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็งในลำดับต้น ๆ ของโลกตลอดไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถสร้างความมั่นคงให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนมากและเป็นการยกระดับ เสริมรากฐานที่มั่นคงของระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยผลลัพธ์ที่ได้มาคือ กระทรวงฯ จะมีบุคลากรที่เข้มแข็งมากด้วยประสบการณ์และความชำนาญ โรงพยาบาลไม่ต้องนำเงินบำรุงมาจ้างคนที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่ทำงานกันนานหรือไม่ และสามารถนำเงินบำรุงเหล่านี้ไปพัฒนาหน่วยบริการ แก้ไขปัญหาการเงิน ตามภารกิจหลักของโรงพยาบาลได้

"นี่คือสิ่งที่เราจะได้กลับมาจากการมีสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามและความทุ่มเทต่างๆ ที่พวกเราใส่ลงไปไม่สูญเปล่า" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ