COVID-19สธ.ยันจัดเตรียมเตียงและห้องแล็บเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19

ข่าวทั่วไป Monday April 13, 2020 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการบริหารจัดการเตียงรองรับการรักษาโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยรวม 2,701 เตียง ดังนี้ 1.เตียงในหอผู้ป่วย จำนวน 1,978 เตียง อยู่ในภาครัฐ 930 เตียง (โรงเรียนแพทย์ เหล่าทัพ ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข) และภาคเอกชนอีก 1,048 เตียง 2.เตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) จำนวน 120 เตียง เป็นของรัฐ 65 เตียง เอกชน 55 เตียง

ทั้งนี้ คาดว่าปลายเดือนเมษายนจะขยายเพิ่มเป็น 187 เตียง และ 292 เตียงในเดือนพฤษภาคม 3.Hospitel จำนวน 603 เตียง รองรับผู้ป่วยรอจำหน่ายที่มีอาการดีขึ้น เป็นโรงแรม 2 แห่ง และหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 แห่ง

สำหรับเครื่องช่วยหายใจได้จัดเตรียมชนิดขีดความสามารถสูงสุด ที่ประมวลผลการเปลี่ยนแปลงผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ สนับสนุนการทำงานของแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง มีเพียงพออย่างน้อย 2 เท่าของเตียงไอซียู ที่กำลังจัดเตรียมไว้ 400 เตียงทั่วประเทศ มีอีกประมาณ 100 ในภาคเอกชนมีอีก และมีแผนจัดหาเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 เครื่อง มั่นใจว่ามีทั้งเตียงและเครื่องช่วยหายใจรองรับเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ณ สถานการณ์ขณะนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีไอซียูรวมทั้งหมดประมาณ 6,000 เตียง และมีเครื่องช่วยหายใจที่สามารถใช้ในห้องไอซียู ประมาณ 10,000 เครื่อง แบ่งเป็นชนิดมีศักยภาพสูงสุดช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ ใช้งานในระดับวิกฤตสูงสุด 4,000 เครื่อง และกลุ่มขีดความสามารถสูง มีความซับซ้อนขึ้น มีระบบการวัดผลมากขึ้นแสดงผลใช้งานหลากหลายอีกประมาณ 6,000 เครื่อง

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ทุ่มสรรพกำลังในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้านการรักษาพยาบาล ทำให้วันนี้เริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนในภารกิจด้านการรักษาและดูแลผู้ป่วย การวางแผนบริหารจัดการโรงพยาบาล และ Hospitel ทำให้ผู้ป่วยรักษาหายแล้วถึง 1,288 ราย คิดเป็น 50% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จร่วมกันในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้จัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย และห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ 93 แห่ง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข 46 แห่ง (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 23 แห่ง กรมวิทย์ฯ 15 แห่งและอื่นๆ 8 แห่ง) ภาคเอกชน 28 แห่ง มหาวิทยาลัยและภาครัฐอื่นๆ 19 แห่ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2563 ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 100,498 ตัวอย่าง เฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 4 – 10 เมษายน 2563 ตรวจได้ 16,490 ตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิม และน้ำยาตรวจกรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาวิธีการตรวจขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อชุดตรวจสำเร็จรูปจากภาคเอกชนส่วนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีทั้งการใช้เครื่องเดิม หรือใช้วิธีซื้อน้ำยาและใช้เครื่องมือจากเอกชน หรือจัดซื้อโดยใช้งบของโรงพยาบาล ส่วนวิธีการตรวจ ทุกแห่งใช้การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ผู้ตรวจต้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ และระบบความปลอดภัยทางชีววิทยา (Biosafety) จึงไม่สามารถเปิดให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้

ทั้งนี้ ภายในเดือนเมษายนนี้ จะมีห้องปฏิบัติการเปิดเพิ่มอีก 49 แห่ง ตามโครงการ "1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ" ทำให้ทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการทั้งหมด 142 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น ภาคใต้ ในเขตสุขภาพที่ 11 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สิชล รพ.ระนอง รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รพ.ทักษิณ รพ.หลังสวน รพ.พังงา รพ.กระบี่ จากเดิมที่มี 4 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 12 เตรียมเปิดที่รพ.นราธิวาส ปัตตานี รพ.สตูล และตรัง เพิ่มจากเดิมที่มี 5 แห่ง สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (Active Finding Case) ในพื้นที่ทำได้ดียิ่งขึ้น

"การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อให้การวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว การเปิดห้องปฏิบัติการ จัดซื้อน้ำยา และอุปกรณ์การตรวจโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีการจัดซื้อเครื่องมือรวม ขอความร่วมมือนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม และบั่นทอนกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจและทำงานหนักเพื่อปกป้องคนไทยทุกคนจากโควิด-19" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ธนารักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ในกทม.และต่างจังหวัดดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงเป็นลำดับ แต่ยังจำเป็นต้องเข้มมาตรการไปอีกระยะ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ